ตารางชี้วัดดัชนีมวลกาย (Body Mass Index)
BMI กับการชี้วัดภาวะโรคอ้วน
ปัญหาโรคอ้วนในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วน ได้แก่ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต การเลี้ยงดู และพฤติกรรมสุขภาพ จากรายงานทางการแพทย์ อาทิ รายงานของ Berenson และคณะ ในการศึกษา Bogalusa Heart Study และรายงานอื่นๆ สรุปได้ว่า เด็กที่อ้วนมีแนวโน้มจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วน และคนอ้วนมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง
ผลกระทบจากปัญหาโรคอ้วน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามมองหาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ โดยการแสวงหาและพัฒนาเครื่องมือชี้วัดปริมาณไขมันในร่างกายที่เหมาะสมและเชื่อถือได้สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ เพราะที่ผ่านมาเป็นการการพัฒนาโดยนักวิจัยชาวตะวันตก เมื่อนำมาใช้กับชนชาติที่แตกต่างกัน ผลที่ได้ย่อมขาดความเที่ยงตรง
เนื่องจากแต่ชนชาติย่อมมีรูปแบบการเจริญเติบโต และระดับกิจกรรมของร่างกายที่แตกต่างกัน แม้ในกลุ่มประเทศเอเชียด้วยกันเอง ดังรายงานการวิจัยของ Deurenberg และคณะ ที่ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายกับ BMI ในกลุ่มตัวอย่างต่างเชื้อชาติพบว่า คนจีนควรมีค่า BMI ที่ 23.1 คนไทย ที่ 22.1 และคนอินโดนีเซีย ที่ 21.8
ขณะที่ค่ามาตรฐานที่ได้มีการวิจัยโดยชาวตะวันตกนั้น กำหนดไว้ที่ 25 แม้การใช้ BMI จะเป็นที่นิยมในการวัดปริมาณไขมันในร่างกาย เนื่องจากใช้ง่ายและได้ค่าที่น่าเชื่อถือ แต่วิธีการนี้ก็ยังไม่เหมาะในคนที่มีปริมาณกล้ามเนื้อมาก เช่น นักกีฬา เนื่องจากอาจได้ค่าที่ผิดพลาด เพราะใช้ค่าความสูงยกกำลังสองไปหารน้ำหนักร่างกาย
อย่างไรก็ตามการใช้ BMI เพื่อดูภาวะอ้วนในเด็กและวัยรุ่นก็มีความแตกต่างออกไป แม้ในรายงานการประชุมเกี่ยวกับการจัดทำเกณฑ์วัดและประเมินภาวะอ้วนในเด็กและวัยรุ่นของ International Obesity Task Force ในปี 1997 จะสรุปว่า BMI เป็นวิธีที่ใช้ได้ดีในเด็ก แต่เนื่องจากเด็กมีการเปลี่ยนแปลงความสูงตามอายุ และมีการเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นที่แตกต่างกัน โดยเด็กหญิงจะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นก่อนเด็กชาย จึงมีการเสนอให้ใช้ BMI for Age ซึ่งขณะนี้มีความพยายามพัฒนา BMI for Age สำหรับใช้กับเด็กในหลายประเทศ รวมถึงความพยายามที่จะให้มี International BMI for Age ด้วย