Earth Overshoot Day เป็นวันที่จะแจ้งให้ชาวโลกได้รับรู้ว่า ในปีหนึ่งๆเราได้ใช้ทรัพยากรและบริการจากระบบนิเวศจนถึงระดับที่โลกจะจัดหาและสร้างให้ได้ เรากำลังทำให้โลกเป็นหนี้สินและภาระมากขึ้น เพราะของเสีย น้ำเสีย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และอื่นๆ ที่ปล่อยออกมาจากระบบของมนุษย์นั้น เกินกว่าโลกจะสามารถจัดการเองได้ ซึ่ง Andrew Simms นักคิดและนักเขียนชาวอังกฤษเป็นคนแรกที่หยิบประเด็นนี้ขึ้นมาเขียนในหนังสือที่มีชื่อว่า Ecological Debt ที่พูดถึงความเกี่ยวเนื่องระหว่างสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิด Earth Overshoot Day
Earth Overshoot Day นั้นในแต่ละปีจะเกิดต่างกัน ซึ่งการคำนวณนั้นคือ สัดส่วนระหว่างทรัพยากรทางธรรมชาติและความสามารถในการกำจัดและดูดซับของเสียให้แก่มนุษย์ (World Biocapacity) กับความต้องการใช้ทรัพยากรของมนุษย์ (World Ecological Footprint) ในปีนั้นๆ แล้วนำมาหาจำนวนวันที่โลกจะประคับประคองเราไปได้ดังนี้
Earth Overshoot Day = (World Biocapacity / World Ecological Footprint) x 365
สิ่งที่หน้าตกใจคือ ด้วยอัตราการใช้ทรัพยากรแบบพวกเรานี้ ทำให้ Earth Overshoot Day นั้น กระเถิบร่นเข้ามาเรื่อยๆ เช่น ปี 1993 ประชากร ณ ขณะนั้นทรัพยากรจะหมดโควตาวันที่ 21 ตุลาคม แต่ปี 2003 เป็นวันที่ 22 กันยายน แสดงให้เห็นว่า Earth Overshoot Day นั้นเข้าใกล้มาเรื่อยๆ จากการใช้ทรัพยากรและการปล่อยของเสียออกมา แต่ยังพอมีความหวังในการเปลี่ยนแปลงอนาคต ด้วย4 ปัจจัยนี้คือ
1) การบริโภคทรัพยากร ความต้องการประหยัดเงิน ซื้อมาก ราคาต่อชิ้นยิ่งถูก ทำให้มีการซื้อข้าวของมากักไว้ภายในบ้าน และการซื้อ1 แถม 1 ทั้งๆที่ต้องการใช้เพียงชิ้นเดียว ของบางชนิดกว่าจะใช้ชิ้นแรกหมดชิ้นที่ 2 ก็หมดอายุแล้ว ซึ่งเป็นการผลาญทรัพยากรไปโดยไม่เกิดประโยชน์
2) ประสิทธิภาพของสิ่งของที่ถูกสร้างขึ้น หลายครั้งเราเลือกซื้อสิ่งของที่มีคุณภาพน้อยกว่า เพราะต้องการประหยัดเงินแต่หารู้ไม่ว่าทำให้ต้องซื้อสินค้าบ่อยกว่าเพราะประสิทธิภาพไม่เท่าของแท้ ถ้าซื้อของดีได้มาตรฐาน เราก็ไม่ต้องเสียทรัพยากรและพลังงานที่ใช้ในการผลิต บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่หุ้มแบตเตอรี่ของปลอมเหล่านั้นจำนวนหลายชิ้น
3) จำนวนประชากร คนยิ่งมาก ความต้องการยิ่งมากตามไปด้วยเป็นเรื่องปกติ ประเทศไทยเองก็เคยเสียสมดุลในปี พ.ศ.2529 เมื่อกำลังของธรรมชาติไม่อาจรับมือการพัฒนาแบบเฉียบพลัน ทั้งที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ประชากรมากขึ้น กินและใช้มากขึ้นของเสียก็มากขึ้นตามไปด้วย แต่ป่าไม้และระบบนิเวศที่ช่วยรักษาโลกกลับลดลง
4) ความสามารถในการสร้างของธรรมชาติ มนุษย์ทำตัวเป็นผู้รับประโยชน์จากการสร้างสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติของโลกที่ไม่น่ารักซักเท่าไหร่ ลองนึกถึงว่ามีครัวผลิตอาหารให้เราวันละ 3 มื้อ กินเสร็จแล้วเราก็ส่งจานสกปรกและเศษอาหารกลับไปยังโรงครัว โดยไม่สนใจที่จะช่วยเหลือ หรือทำความสะอาด หนำซ้ำยังตั้งหน้าตั้งตาลดขนาดโรงครัวลงไปเรื่อยๆ เพื่อเอาพื้นที่ไปทำห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น โรงรถ โดยที่ยังต้องการให้โรงครัวผลิตอาหารชั้นดี 3 มื้อ เหมือนเดิม เหมือนกับที่ธรรมชาติบนโลกถูกเบียดเบียนพื้นที่และรับผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ จนศักยภาพในการทำหน้าที่ลดลง