บทที่ 4
เครื่องมือวัดผลและการวิเคราะห์ผลการทดสอบคุณภาพ
วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อศึกษาหาชนิดของสี โดยศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตสารเคลือบผิวไม้ที่ได้มาจากวัสดุธรรมชาติ และมีคุณสมบัติที่เทียบเท่าหรือพอทดแทนสีแลกเกอร์ทั่วไปที่มีในท้องตลาดที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนำผลการทดลองของสีเคลือบไม้จากน้ำยางพารา ผ่านเครื่องมือวัดผลและวิเคราะห์ผลการทดลอง โดยผู้ทดลองได้ศึกษาเครื่องมือ และเลือกนำเฉพาะเครื่องมือบางตัวมาใช้ในการวัดผลการทดลองดังรายละเอียดต่อไปนี้
4.1 ทำความเข้าใจกับมาตรฐานสากล DIN, EN, ISO และมาตรฐานอื่นๆที่ใช้เป็นเครื่องมือในการทดสอบคุณภาพของสีเคลือบผิวไม้ในงานอุตสาหกรรม
DIN ย่อมาจาก Deutsches Institut fur Normung คือมาตรฐานจาก German Institute for Standardization ซึ่งงานไม้เฟอร์นิเจอร์ในกลุ่มประเทศทางยุโรป ประเทศเยอรมันได้รับการยอมรับกันอย่างแพร่หลายในเรื่องมาตรฐานการผลิต และคุณภาพ DIN จึงเป็นมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วทั้งยุโรป ซึ่งความจริง DIN จะเป็นมาตรฐานกำหนดที่ใช้กันในเยอรมันเท่านั้น
EN หรือ European Standard คือมาตรฐานจากกลุ่มประเทศในยุโรป ที่ให้การยอมรับการมาตรฐานนี้ในกลุ่มประเทศทางยุโรปบางครั้งจะเห็นว่ามีการใช้ DIN EN ร่วมกันอยู่หลายมาตรฐาน
ASTM หรือ American Society for testing and Materials คือมาตรฐานทางอเมริกา
ISO หรือ International Organization for Standardization คือมาตรฐานคุณภาพสากล
JIS หรือ Japanese Industrial Standard คือมาตรฐานทางประเทศญี่ปุ่น
SIS หรือ Swedish Standards Instute คือมาตรฐานทางประเทศสวีเดน
มอก. หรือ มาตรฐานอุตสาหกรรม ประเทศไทยใช้ มอก. หรือ มาตรฐานอุตสาหกรรมในการทดสอบคุณภาพ และใช้เป็นการรองรับ หรือ รับประกันสินค้าที่ขายกันในประเทศเช่นเดียวกับ DIN ที่ใช้กันในเยอรมัน แต่ มอก.ยังไม่เป็นที่ยอมรับของมาตรฐานสากล มอก.จึงใช้ได้เฉพาะในเมืองไทย หรือประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น และเนื่องจากผู้ทดลองมีความคุ้นเคยกับมาตรฐานสากล จึงขออนุญาตใช้เครื่องมือจากมาตรฐานสากลในการทดสอบ
ในบางครั้ง เรายังเห็น มาตรฐาน EN ISO ด้วยเช่นกัน ในการทดสอบผลการทดลองนี้ ได้มีมาตรฐาน ที่รวม DIN, EN และ ISO ด้วยเช่นกัน คือ มาตรฐานการทดสอบการทำ Cross Cut ซึ่งมาตรฐานของเยอรมันคือ DIN 53151 ซึ่ง ทางมาตรฐานสากล ใช้ ISO 2409 และตรงกับมาตรฐานอเมริกาคือ ASTM D 3359 โดยในปัจจุบัน มาตรฐานที่เหมือนกันทั้ง 3 มาตรฐานนี้ รวมเรียก DIN EN ISO 2409
DIN EN ISO 2409 Cross Cut Test การทดสอบด้วยการทำ Cross Cut ตามมาตรฐาน DIN EN ISO 2409 ความติดแน่นของฟิล์มของสารเคลือบผิว เป็นตัวบอกถึงระดับความมากน้อยของการยึดเกาะระหว่างฟิล์มกับพื้นผิววัสดุ (13) การหาความติดแน่นวิธีที่ง่ายที่สุด คือ ใช้ของมีคมขูดที่ผิวฟิล์ม ถ้าฟิล์มเปราะหรือมีแรงยึดเกาะกับพื้นผิวไม่ดี ฟิล์มก็จะเกิดการแตก ในการทดลองนี้ทำการทดสอบทั้งสิ้นสีละ 10 ครั้งหรือ 10 ตำแหน่ง บนแผ่นที่ทาด้วยแลคเกอร์ทั่วไป และ 10 ตำแหน่งบนชิ้นงานอีก 8 ชิ้นที่ทาด้วยสียาง
DIN 68861 Part 6 การทดสอบด้วยความร้อนจากบุหรี่ Heat Resistance (Cigarette Test) ตามมาตรฐาน DIN 68861 Part 6โดยใช้ความร้อนจากบุหรี่ ทำการทดสอบทั้งสิ้น 10 ครั้งหรือ 10 ตำแหน่ง ที่ทาด้วยแลคเกอร์ทั่วไป และ 10 ตำแหน่งบนชิ้นงานอีก 8 ชิ้นที่ทาด้วยสียาง
DIN 68861 Part 1 การทดสอบความทนต่อเคมี (13) Chemical Resistant Test ตามมาตรฐาน DIN 68861 Part 1 เป็นการหาความสามารถของฟิล์มของสารเคลือบผิวที่จะกันไม่ให้น้ำซึมผ่านเข้าไปได้ การทดสอบทำโดยวิธีจุ่มน้ำภายในระยะเวลาที่กำหนด เมื่อครบระยะเวลาแล้ว นำแผ่นทดสอบออกจากน้ำแล้วซับด้วยกระดาษซับ ตรวจสอบพื้นผิวแผ่นทดสอบเพื่อดูรอยพองหรือข้อบกพร่องอื่น ๆ จากนั้นตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตรวจสอบพื้นผิวแผ่นทดสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อดูสภาพการยึดเกาะสนิม การเปลี่ยนสี การเกิดเชื้อรา หรือข้อบกพร่องอื่น ๆ ใช้ตัวทำละลายที่เหมาะสมลอกตัวอย่างทดสอบออกจากพื้นผิวแผ่นทดสอบ แล้วตรวจดูรอยกัดกร่อนบนโลหะส่วนที่ลอกตัวอย่างทดสอบออกแล้ว
4.2 มาตรฐานเครื่องมือวัดผลที่ได้เลือกและนำมาใช้วิเคราะห์ ผลการทดสอบคุณภาพมีดังนี้
4.2.1 เครื่องมือวัดผลและการวิเคราะห์ผลการทดสอบคุณภาพวิธีที่ 1 การหาค่าการยึดเกาะของสี เทียบโดยการขูดด้วยเล็บมือทั้งสีแลคเกอร์ และสีสูตรน้ำยางพารา ทำการทดสอบด้วยการใช้เล็บขูด ทำการทดสอบทั้งสิ้นสีละ 10 ครั้งหรือ 10 ตำแหน่ง บนชิ้นงาน 1 แผ่นที่ทาด้วยแลคเกอร์ทั่วไป และ 10 ตำแหน่งบนชิ้นงานอีก 8 ชิ้นที่ทาด้วยสียาง ในการทดสอบนี้จะสามารถเห็นถึงการยึดเกาะของสีที่เคลือบบนวัสดุเบื้องต้น และง่ายต่อการทดสอบเพราะไม่มีอุปกรณ์ใดๆ เพิ่มเติมนอกจากเล็บมือของผู้ทดสอบเอง
4.2.2 เครื่องมือวัดผลและการวิเคราะห์ผลการทดสอบคุณภาพวิธีที่ 2 การทดสอบโดยการทำ Cross Cut ตามมาตรฐาน DIN EN ISO 2409 Paints and Vanished Cross cut test ในการทดลองและวิเคราะห์ผลจากการทดลองนี้ เพื่อศึกษาดูการยึดเกาะของสีที่เคลือบบนวัสดุ ซึ่งการยึดเกาะที่ดีของผิวงานจะมีผลต่ออายุการใช้งาน หลังจากเคลือบสีไปแล้วนั้นจะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่ถ้าการยึดเกาะไม่ดี หมายถึงขูด หรือ สะกิดออกได้ง่าย ผลิตภัณฑ์ก็จะมีอายุใช้งานสั้นลง การทดสอบสามารถทำได้ด้วยการใช้มีด คัตเตอร์มาตรฐาน และสก็อตเทป ตามมาตรฐาน DIN EN ISO 2409 ความติดแน่นของฟิล์มของสารเคลือบผิว เป็นตัวบอกถึงระดับความมากน้อยของการยึดเกาะระหว่างฟิล์มกับพื้นผิววัสดุ (13) การหาความติดแน่นวิธีที่ง่ายที่สุด คือ ใช้ของมีคมขูดที่ผิวฟิล์ม ถ้าฟิล์มเปราะหรือมีแรงยึดเกาะกับพื้นผิวไม่ดี ฟิล์มก็จะเกิดการแตก ทำการทดสอบทั้งสิ้นสีละ 10 ครั้งหรือ 10 ตำแหน่ง บนแผ่นที่ทาด้วยแลคเกอร์ทั่วไป และ 10 ตำแหน่งบนชิ้นงานอีก 8 ชิ้นที่ทาด้วยสียาง