เครื่องจักรกลการเกษตรในปัจจุบันนี้มีการวิวัฒนาการรวดเร็วมากเมื่อเทียบกับในอดีตที่มีการใช้แรงงานคนมาทำการเกษตรกรรม ทั้งการทำนา ทำไร่ และทำสวน แต่เมื่อย่างเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมรุ่งเรืองแล้วได้มีการนำเครื่องจักรกลเข้ามาทดแทนแรงงานคนกันมากขึ้นและมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรนั้นสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วมากกว่าแรงงานคนทำให้ผลผลิตก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้มีสินค้าเกษตรเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันมากขึ้นส่งผลให้มีการขยายตัวของการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ในส่วนทิศทางฐานเศรษฐกิจรวมไปถึงภาพรวมเครื่องจักรกลการเกษตรในปี 2556 จะมีการเติบโตทั้งในประเทศและการส่งออกสูง
โดยในประเทศทั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายประชานิยมในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาล โดยเฉพาะข้าว และมีการคาดการณ์มูลค่าตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรในไทยของปี 2556 ว่าน่าจะมีมูลค่ามากกว่า 1.1 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยแบ่งเป็นรถแทร็กเตอร์ ประเภทรถไถเดินตาม มูลค่าตลาดอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ประเภทรถเกี่ยวข้าว ยอดขายประมาณ 1 หมื่นคันมูลค่าตลาด 2 หมื่นล้านบาท อุปกรณ์ต่อพ่วง มูลค่าตลาด 1.2 หมื่นล้านบาท อะไหล่รถเกี่ยวข้าว มูลค่าตลาด 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นเครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กตลาดในประเทศส่วนใหญ่ โดยยอดขายสูงสุดรั้งอันดับ 1 ตกเป็นของ บริษัท สยามคูโบต้าอุตสาหกรรม จำกัด และอันดับสองเป็น บริษัท ยันมาร์ จำกัด เป็นต้น
ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรไทยส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยประมาณ 65 ปี ไม่ใช่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น ยังครอบคลุมไปถึงเกษตรกรในอาเซียนด้วย ดังนั้นการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตรจะต้องเป็นระบบที่ใช้งานง่าย ทันสมัย เร็ว เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพราะหากระบบออกมาซับซ้อนเกินไป หรือใช้งานยาก จะเป็นปัญหากับผู้สูงอายุในการใช้งาน ซึ่งในปีนี้นับเป็นปีทองของเครื่องจักรกลการเกษตร ที่จะมีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าพืชผลทางการเกษตรมีราคาดี ทำให้เกษตรกรมีกำลังซื้อเพิ่ม เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดขายกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรโตตามไปด้วย ขณะเดียวกันเป็นผลมาการจากที่ภาคเกษตรขาดแรงงาน เพราะคนรุ่นใหม่หันไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น จึงมีส่วนที่จะทำให้เกษตรกรหันมาใช้เครื่องทุ่นแรงแทนจ้างแรงงาน
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและเวลาลงอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซีในปี 2558 จะทำไทยสามารถส่งออกเครื่องจักรกลการเกษตรไปจำหน่ายในกลุ่มประเทศอาเซียนได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรโดยรวมจะเติบโตขึ้น แต่ก็ต้องมีการเตรียมรับมือกับสภาพอากาศที่จะมีผลต่อกำลังการซื้อ หรือชะลอซื้อของเกษตรกร โดยเฉพาะเครื่องจักรกลที่มีมูลค่าสูง เพราะโดยปกติแล้วเกษตรกรจะซื้อเครื่องจักรกลก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นที่ต้องใช้และเมื่อถึงฤดูใช้งานเท่านั้นครับ