ที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีการอการลงโทษจำคุกสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า แม้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจะเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายมาด้วย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยกำหนดโทษจำเลยให้เหมาะสมกับความผิดนั้นได้ คนต่างด้าวที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้มีเพียง 14 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนัก ประกอบกับจำเลยรับคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยเพื่อทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้างเท่านั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงมากนัก ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดอาญาและได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีซึ่งน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวมมากกว่าที่จะจำคุกไปเสียเลยทีเดียว ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้จำเลยหลาบจำและป้องกันมิให้จำเลยกระทำความผิดอีก สมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ฉบับใหม่ประกาศใช้บังคับแทนฉบับเดิม (พ.ศ.2521) ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2551 แล้ว ซึ่งบทความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ส่วนบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในมาตรา 54 โดยมาตรา 54 บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และถ้าคนต่างด้าวนั้นไม่มีใบอนุญาต ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน" เห็นได้ว่าอัตราโทษตามกฎหมายใหม่ดังกล่าวมีเพียงโทษปรับเท่านั้น มิได้มีโทษถึงจำคุกดั่งที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 เช่นนี้ กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเกี่ยวกับโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 โดยมิได้ระบุวรรคมาด้วยก็ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสียด้วย"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 มาตรา 27 (ที่แก้ไขใหม่), 54 (ที่แก้ไขใหม่) ฐานให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ