“เราไม่มีทางหนีโฆษณาพ้น” คำกล่าวนี้อาจเป็นจริงสำหรับชีวิตคนไทยและคนทั่วโลกในปัจจุบัน ในยุคของการทำการตลาดแบบผสมผสาน หรือ IMC : Integrated Marketing Communication ทำให้สื่อโฆษณาอยู่กับเราอย่างใกล้ชิดไปทุกที่ ดังจะเห็นได้จาก สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงบ้านเรือน และเมื่อเราก้าวออกจากบ้าน เราก็จะพบป้ายโฆษณาตามท้องถนน ซึ่งมีขนาดและรูปแบบต่างๆ ทั้งแบบป้ายธรรมดา ป้ายแบบไตรวิชั่น (Tri-Vision) จนกระทั่งเป็นจอภาพขนาดใหญ่ที่ฉายภาพเคลื่อนไหวมีสีสันสวยงามสมจริง หรือแม้แต่ตามห้างร้านต่างๆ เช่น ในซุปเปอร์มาร์เกต เราจะพบสื่อ ณ จุดขาย (P.O.P : Point of Purchase) ในรูปแบบต่างๆ เพื่อชักจูง เชิญชวนให้เราเชื่อถือ คล้อยตาม แล้วก็ซื้อสินค้าหรือบริการในที่สุด ที่กล่าวมานี้ยังไม่รวมถึงกิจกรรมทางการตลาดอื่นๆ เช่น กิจกรรมส่งเสริมการตลาด (Event Marketing) ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างสูงในปัจจุบัน การประชาสัมพันธ์ (Public Relation) การตลาดทางตรง (Direct Marketing) การส่งเสริมการขาย (Sales Promotion) ฯลฯ
ย้อนกลับไปถึงสื่อโทรทัศน์ หลายคนอาจคิดถึงภาพยนตร์โฆษณา ซึ่งเราเห้นกันอยู่เป็นประจำทุกวันในฟรีทีวี ในยุคหนึ่งผู้ชมรายการโทรทัศน์จะกดเปลี่ยนช่องโทรทัศน์เพื่อชมรายการอื่นขณะพักโฆษณา แต่ปัจจุบันบรรดานักสร้างสรรค์งานโฆษณาหรือที่เราเรียกว่า Creative ต่างสรรหาวิธีการทำโฆษณาให้กลายเป็นสื่อบันเทิงที่คนอยากจะดูมากขึ้น และภาพยนตร์โฆษณาบางเรื่องกลายเป็นสิ่งที่คนนำไปพูดถึงด้วยความประทับใจไปทั่วบ้านทั่วเมือง (Talk of the town) แต่การโฆษณาไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่นั้น แม้แต่ในรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ที่ผู้ชมกำลังชมอยู่นั้น ก็มีการโฆษณาแฝงตัวมาอยู่ด้วย การแฝงโฆษณาลักษณะนี้เรียกว่า การทำ Product placement ซึ่งนิยมกันมากในต่างประเทศ และได้มีการจัดการประกวดรางวัลขึ้น เช่น รางวัล Brandchannel’s 2004 Product placement Awards ซึ่งจัดโดยเว็บไซด์ www.brandchannel.com
การทำ Product placement คือการนำสินค้า ตราสัญลักษณ์หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวสินค้าไปแทรกอยู่ในรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ได้อย่างกลมกลืน โดยให้ตัวละครใช้สินค้า พูดถึงสินค้า หรือมีภาพตราสินค้าอยู่ในฉากต่างๆ หรือแม้แต่บนเสื้อผ้าของตัวละคร แต่ถ้าใครเป็นคอละครตลกที่เราเรียกว่า sitcom (situation comedy) โดยเฉพาะละครของไทย ก็จะคุ้นเคยกับการทำโฆษณาแฝงลักษณะนี้เป็นอย่างดี จนในบางครั้งเราจะรู้สึกว่าโดนยัดเยียดขายสินค้า เมื่อจู่ๆ ตัวละครก็มีบทพูดแนะนำสินค้าหรือใช้สินค้านั้นแบบไม่มีเหตุผล ทั้งนี้เพราะขาดความกลมกลืนในการนำเสนอนั่นเอง