วัดวังก์วิเวการาม หรือ วัดหลวงพ่ออุตตมะ เป็นวัดที่หลวงพ่ออุตตมะ ร่วมกับชาวบ้านอพยพชาวกะเหรี่ยงและชาวมอญ ร่วมกันสร้างขึ้น ในปี พ.ศ. 2496 ที่บ้านวังกะล่าง อำเภอสังขละบุรีจังหวัดกาญจนบุรี ใกล้กับชายแดนไทย-พม่า ห่างจากอำเภอเมืองกาญจนบุรี ประมาณ 220 กิโลเมตร
ในระยะแรกมีเพียงกุฏิและศาลา มีฐานะเป็นสำนักสงฆ์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกว่า วัดหลวงพ่ออุตตมะ ตั้งอยู่บนเนินสูงในบริเวณที่เรียกว่า สามประสบ ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำ 3 สาย คือแม่น้ำซองกาเลีย แม่น้ำบีคลี่ แม่น้ำรันตี ไหลมาบรรจบกัน ในปี พ.ศ. 2505 ได้รับอนุญาตจากกรมการศาสนาให้ใช้ชื่อว่า วัดวังก์วิเวการาม ซึ่งตั้งตามชื่ออำเภอเดิม คืออำเภอวังกะ-สังขละบุรี ซึ่งต่อมาถูกยุบเป็นกิ่งอำเภอ ก่อนที่จะยกฐานะเป็น อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรีในปี พ.ศ. 2508
ตัววัดอยู่เลยจากอำเภอสังขละบุรีไปประมาณ 6 กิโลเมตร “หลวงพ่ออุตตมะ” เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนชาวไทยชาวมอญรวมทั้งชาวกะเหรี่ยงและพม่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นวัดวังก์วิเวการาม ก่อสร้างด้วยศิลปะแบบพม่า ภายในวิหารที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อนอันงดงามชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อขาวจากวัดวังก์วิเวการามแยกไปอีก 1 กิโลเมตรจะเป็นที่ตั้งของเจดีย์แบบพุทธคยา มีลักษณะฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่เป็นกระดูกนิ้วหัวแม่มือขวาขนาดเท่าเมล็ดข้าวสารบริเวณใกล้เจดีย์มีร้านจำหน่ายสินค้าจากพม่าหลายร้านจำพวกผ้าแป้งพม่าเครื่องไม้ราคาย่อมเยา
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีมีการจัดงานคล้ายวันเกิดหลวงพ่ออุตตมะในงานมีกิจกรรมต่างๆประกอบด้วยพิธีกรรมทางศาสนาการแข่งขันชกมวยคาดเชือกการแสดงของชมรมวัฒนธรรมท้องถิ่นเช่นการรำแบบมอญการรำตงของชาวกะเหรี่ยงและในงานประชาชนจะพร้อมใจกันแต่งกายตามแบบวัฒนธรรมของชาวไทยรามัญและจัดเตรียมสำรับอาหารทูนบนศีรษะไปถวายพระสงฆ์ที่วัด