ไส้กรอก"?ทำไมต้อง ไส้กรอกอีสาน
"ไส้กรอก" เชื่อว่าเป็นภูมิปัญญาโบราณ ที่ใช้ในการถนอมอาหารจากเนื้อสัตว์ที่มีมานาน ไส้กรอกเป็นอาหารที่หลายชนชาติทำ จึงทำให้ไส้กรอกมีรสชาติ รูปร่างลักษณะหลากหลายอย่าง เช่น ไส้กรอกของจีน ที่เราคุ้นเคยก็คือ กุนเชียง ไส้กรอกญี่ปุ่นก็ต้องไส้กรอกปลา ส่วนไส้กรอกฝรั่งนั้นมีมาก ที่ขึ้นชื่อก็ต้องเยอรมัน
เมื่อมาพูดถึง "ไส้กรอก" ของไทยเราก็ไม่น้อยหน้าชนชาติอื่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ไส้กรอกอีสาน ไส้อั่ว ไส้กรอกปลาแนม หม่ำ ด้วยความแตกต่างเหล่านี้ ทำให้ไส้กรอกแต่ละชนิดมีวิธีการกินและการปรุงที่ไม่เหมือนกัน
ไส้กรอก เป็นอาหารพื้นบ้านของชาวอีสานมานาน ถ้าเราถามคนอีสานทั่วไปในสมัยนี้ก็จะตอบว่า?
อาหารที่เกิดจากการเอาส่วนผสมซึ่งประกอบไปด้วย เนื้อสัตว์ ข้าว ผสมกระเทียม เกลือ แล้วยัดใส่ในไส้นี้ ว่า ไส้กรอก แล้ว ไส้อั่ว ของคนเหนือก็ยัดเนื้อสัตว์และเครื่องปรุงลงในไส้เหมือนกัน ทำไมไม่เรียก ไส้กรอก ทุกคนคงอยากรู้เหมือนกันใช่ไหมว่า อาหารที่เกิดจากการเอาไส้มากรอกนั้น ทำไม เรียก "ไส้กรอก"
แล้ว ทำไม เรียก ไส้กรอกอีสานล่ะ?
ไส้กรอกอีสาน เป็นอาหารดั้งเดิมของชาวอีสาน ด้วยรสชาติที่กลมกล่อมและจากส่วนผสมที่มีเอกลักษณ์ลงตัว ทำให้ชื่อนี้ถูกเรียกกันมานาน ไส้กรอกอีสาน ใช่ว่าจะมีแต่ไส้กรอกหมู ยังมี ไส้กรอกเนื้อ และหม่ำ หรือ หม้ำ (ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน) สำหรับไส้กรอกเนื้อไม่เป็นที่นิยมกัน ส่วนหม่ำหลายคนไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนด้วยซ้ำไป (ทราบมาว่า "หม่ำ" นั้น มีมานานก่อนไส้กรอก)
สำหรับ คำว่า กรอก ในภาษาอีสานดั้งเดิมนั้น ไม่มี จึงเป็นไปไม่ได้ว่า อาหารพื้นบ้าน ที่มีมานานชนิดนี้จะมีชื่อดั้งเดิมว่า ไส้กรอก เพราะโดยปกติชื่อของอาหารจะบอกต้นตอได้ว่า มาจากไหน มาเมื่อไหร่ ของแท้แต่เดิมมาใช่หรือไม่ แต่ คำว่า "ไส้" บวกกับ คำว่า "กรอก" เป็น ไส้กรอก นี้ไม่ใช่คำพื้นเมืองของคนอีสานแน่นอน แต่เป็นภาษาภาคกลางล้วนๆ มากกว่า
จากคำบอกเล่าของพ่อเฒ่าพ่อแก่ชาวอีสาน ทำให้ได้รู้ว่า ไส้กรอกมีมานานแต่โบราณกาลแล้ว ซึ่งสมัยยายยังเด็ก ทวดยังสาวนั้น คนอีสานเรียก ไส้กรอก ว่า ไส้อั่ว ซึ่งจะมีทั้งไส้อั่ววัว ไส้อั่วหมู ภายหลังมีการเรียก ไส้กรอก ควบคู่กันมากับ คำว่า ไส้อั่ว ด้วย โดยคนในเมืองจะเรียก ไส้กรอก ส่วนคนที่อยู่นอกเมืองก็ยังคงเรียก ไส้อั่ว และเมื่อสืบเสาะหาหลักฐานอื่นๆ เช่น คำผญาของชาวอีสาน และถ้าศึกษาวรรณคดีภาษาอีสาน เรื่องพระเวสสันดรชาดก ก็ได้เอ่ยถึง ไส้อั่ว เอาไว้ในกัณฑ์ชูชก หรือคำร้องในหมู่หมอลำหมู่ หมอรำกลอน ก็พบว่ามี คำว่า ไส้อั่ว จึงพอจะคาดคะเนได้ว่า ไส้อั่ว คือ คำเรียก ไส้กรอกอีสานมาแต่โบราณ รสชาติของไส้กรอกอีสานนั้นเป็นที่นิยมและถูกปากของผู้กินทั่วไป ทำให้ต้องขยายออกนอกท้องถิ่น ชื่อจึงได้เปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับความนิยม และให้เป็นภาษาภาคกลาง จึงต้องเรียกอาหารชนิดนี้ว่า ไส้กรอก
ไส้กรอกอีสาน ของดั้งเดิมของคนอีสานหรือไม่?
"อั่ว" ในภาษาอีสาน แปลว่า "ยัด" เหมือนในภาษาภาคเหนือและลาว ดังนั้น ไส้กรอกอีสานสมัยก่อนจึงน่าจะเรียก "ไส้อั่ว" จริง แต่ไส้อั่วอีสานใส่ข้าว และหนักกระเทียมในส่วนผสม ทำให้รสชาติแตกต่างจากไส้อั่วของลาวและภาคเหนือ
ปัจจุบัน ไส้กรอกอีสาน มีการปรับส่วนผสมของเครื่องที่ยัดไส้ให้เข้ากับรสปากและชนิดอาหารที่มีอยู่ในท้องถิ่น เราจึงพบเห็นไส้กรอกมีมากมายหลายชนิด ตามความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นไส้กรอกปลา ไส้กรอกวุ้นเส้น ไส้กรอกหม่ำ ไส้กรอกเห็ด เป็นต้น
ไส้กรอก เป็นภูมิปัญญาการถนอมอาหารจากเนื้อสัตว์
การยัด "ไส้กรอก" สำหรับคนอีสานสมัยก่อน คือรูปแบบหนึ่งของการถนอมอาหาร เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการใช้ประโยชน์จากเนื้อสัตว์อย่างคุ้มค่า โดยปกติทั่วไปแล้ว ชาวบ้านไม่ได้ทำไส้กรอกกินกันบ่อยนัก นอกจากว่ามีการจัดงานบุญ เมื่อมีการล้มวัว ควาย หรือหมู และต้องการใช้ประโยชน์จากเนื้อสัตว์ทุกส่วน จึงมีวิธีการเก็บรักษาเนื้อสัตว์ไม่ให้เน่าเสีย เพราะไม่มีตู้เย็นแช่ จำเป็นต้องหากรรมวิธีในการถนอมอาหารเหล่านั้น เช่น เอาเนื้อสัตว์มาหมักแล้วยัดใส่ไห เช่นเดียวกับการทำปลาแดก แต่การหมักเนื้อ จะผสมข้าวสุก กระเทียมและเกลือ เรียกกันว่า น้ำเค็ม เศษเนื้อสัตว์นำมาทำไส้กรอก ส่วนเครื่องในก็จะทำ "หม่ำ"
ธุรกิจไส้กรอก
"ไส้กรอกอีสาน" เป็นอาหารที่เดินทางมาจากอีสานเช่นเดียวกับอาหารอีสานอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ส้มตำ ลาบ น้ำตก ซุบหน่อไม้ เป็นต้น ซึ่งอาหารอีสานเหล่านี้ได้รับความนิยมกันทั่วประเทศ โดยเราจะพบเห็นกันอยู่ทั่วไป และเชื่อกันว่าอาหารอีสานทั้งหลายนี้ได้เดินทางมาพร้อมกับผู้คนที่มุ่งหน้าสู่เมืองกรุง และนำเอาวัฒนธรรมการกินมาด้วย
แม้ว่า ไส้กรอกอีสาน จะเป็นอาหารท้องถิ่น แต่ไม่น่าเชื่อว่าในปัจจุบันไส้กรอกอีสานกลายเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมกันทั้งประเทศ พบเห็นว่ามีขายกันดาษดื่น ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัด ริมทางข้างถนน ปั๊มน้ำมัน และที่อื่นๆ สาเหตุที่ไส้กรอกอีสานได้รับความนิยมนั้นอาจเป็นเพราะลิ้นคนไทยโดยทั่วไปชอบอาหารรสเผ็ด เปรี้ยว ไม่มันเลี่ยน จึงยอมรับอาหารอีสานได้ง่าย อาจมีการเปลี่ยนรสปรุงไปบ้าง เช่น เติมหวาน เสริมเปรี้ยว เป็นต้น แต่ก็ยังถือได้ว่าอาหารพื้นถิ่นของอีสานเป็นที่นิยมกันทั่วประเทศ
กรรมวิธีการทำไส้กรอกอีสาน
ไส้กรอก เป็นอาหารพื้นบ้านที่ทำกันง่ายๆ แต่อร่อยเหลือหลาย ถ้าอยากทำไส้กรอกกินเองภายในบ้าน หรือทำเป็นการค้า ก็สามารถทำได้ เช่น ไส้กรอกอีสานพื้นบ้านของไทย ใช้อุปกรณ์และเครื่องปรุงไม่มาก มีเคล็ดลับและเทคนิคการทำดังนี้
เริ่มแรกต้องเลือกเนื้อสัตว์ สำคัญต้องเลือกเนื้อที่สด อาจจะซื้อเนื้อหมูบดที่ผสมเนื้อหมูแดงและเนื้อขาว (มีขายบนเขียงหมูในตลาด)
ไส้ ต้องใช้ไส้อ่อนหรือไส้กลาง เพราะมีความเหนียว (ปัจจุบันนิยมใช้ไส้หมูเทียมแทนเพราะสะดวกกว่า)
ข้าว ใช้ข้าวสวยจะดีกว่าข้าวเหนียวนึ่ง (ข้าวเหนียวนึ่งต้องล้างน้ำให้หมดเมือก ผึ่งให้แห้งก่อน ทำให้เสียเวลา) แต่ถ้าต้องการให้เปรี้ยวเร็วก็ใส่ข้าวเหนียว
กระเทียม ควรเลือกใช้กระเทียมไทยกลีบเล็ก จะทำให้ไส้กรอกมีกลิ่นหอม
เกลือ ใส่ในปริมาณที่พอดี ถ้าใส่น้อยเกินไปไส้กรอกจะเสีย แต่ถ้ามากเกินไปไส้กรอกไม่เปรี้ยว
สำหรับขั้นตอนในการทำ ต้องนวดเครื่องปรุงทั้งหมดเข้าด้วยกันจนเหนียวจึงนำ