ประเพณีลอยกระทงสาย ของจังหวัดตาก เป็นประเพณีที่นำเอาพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาชาวบ้าน งานศิลปวัฒนธรรมมาหล่อหลอมรวมกันจนเป็นรูปแบบที่โดดเด่นปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งจะแตกต่างจากจังหวัดอื่นเพราะส่วนประกอบของกระทงที่ใช้กะลามะพร้าว ประกอบกับแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านจังหวัดตากจะมีสันทรายใต้น้ำทำให้เกิดเป็นร่องน้ำที่สวยงามตามธรรมชาติ เมื่อนำกระทงลอยกระทงจะไหลไปตามร่องน้ำดังกล่าวเกิดเป็นสายยาวต่อเนื่องของกระทงทำให้แสงไฟของกระทงส่องแสงระยิบระยับเป็นสายยาวตามความยาวของร่องน้ำมีความสวยงามมาก จึงได้มีการพัฒนารูปแบบจากการลอยในชุมชนมาเป็นการแข่งขันลอยกระทงสาย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศเป็นประจำทุกปี และยังได้รับพระราชทานพระประทีปจากพระบรมวงศานุวงศ์รวม 10 พระองค์ มาลอยเป็นปฐมฤกษ์ในการจัดงาน
เหตุที่มีการนำเอากะลามาเป็นส่วนประกอบนั้น เนื่องมาจากชาวเมืองตาก มีการนำเอามะพร้าวมาแปรรูปทำเป็นอาหารว่าง ที่เรียกว่า เมี่ยง โดยถือเป็นอาหารว่างที่ชาวเมืองตากรับประทานเป็นประจำหลังอาหาร ซึ่งมีมะพร้าว ถั่วลิสง ใบเมี่ยงหมัก เป็นส่วนประกอบหลัก นอกจากทำเพื่อรับประทานกันเองภายในครอบครัวแล้ว ยังมีการนำมาขายเป็นอาหารพื้นเมืองและได้รับความนิยมในภาคเหนือโดยทั่วไป กรรมาวิธีในการแปรรูปมะพร้าวเป็น เมี่ยง นั้น มีการขูดเอาเฉพาะเนื้อมะพร้าวมาทำ ส่วนกะลามะพร้าวจะถูกทิ้งไว้ในบริเวณบ้านเป็นจำนวนมาก ไม่มีการนำเอามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
ครั้นถึงวันเพ็ญ เดือนสิบสอง ( วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินทางจันทรคติ ) ประมาณเดือนพฤศจิกายน ชาวบ้านจึงได้ทดลองนำกะลาด้านที่ไม่มีรูมาทำเป็นกระทง โดยเอากะลามาขัดถูจนสะอาด ตกแต่งลวดลายสวยงาม ภายในกะลาใส่ด้ายดิบ ที่ฟั่นเป็น รูปตีนกา (นำด้ายขาวมาล้วงเส้นดายให้เป็น9เส้น) แล้วหล่อ เทียนขี้ผึ้ง เพื่อให้เกิดความเหนียว จากนั้นเทเทียนแล้วรอให้เทียนแข็งตัว ซึ่งเทียนขี้ผึ้งนั้นนำมาจากเทียนจำนำพรรษาที่พระสงฆ์จุดเพื่อทำพิธีสวดมนต์ในโบสถ์วิหารตลอดสามเดือน หลังจาก ออกพรรษา ชาวบ้านจะนำเทียนขี้ผึ้งเหล่านั้นมาหล่อใส่ในกะลา ซึ่งถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นศิริมงคลแก่ผู้นำไปลอย ก่อนที่จะปล่อยลงลอยในแม่น้ำปิง ประกอบกับแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านจังหวัดตากจะเกิดสันทรายใต้น้ำ ทำให้เกิดเป็นร่องน้ำที่สวยงามเป็นธรรมชาติ เมื่อนำ กระทงกะลา ลงลอย กระทงกะลาจะไหลไปตามร่องน้ำดังกล่าว ทำให้ดูเป็นสายอย่างต่อเนื่อง จนสุดสายตา ซึ่งไฟในกะลาจะส่องแสงระยิบระยับเต็มท้องน้ำ
โดยเดิมทีก่อนที่จะมาเป็นงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง นั้น การนำเอากระทงกะลามาลอยเป็นสายจะเป็นเพียงการสาธิตการลอยเท่านั้น ซึ่งในระยะต่อมาได้มีการพัฒนาการลอยมาเป็นการแข่งขันกันอย่างยิ่งใหญ่ในปี พ.ศ. 2540 จนเป็นงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป ๑๐๐๐ ดวง ในปัจจุบัน เป็นรูปแบบที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดตากที่ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
ประเพณีลอยกระทงสาย เป็นประเพณีเฉพาะท้องถิ่นของชาว จังหวัดตาก ซึ่งโดยทั่วไปการลอยกระทงไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็จะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน เช่น ต้องมีกระทงซึ่งประดิษฐ์ขึ้นลักษณะคล้ายดอกบัวบาน แต่ของจังหวัดตากใช้กระทงทำไม่เหมือนใคร คือ ใช้กะลามะพร้าวเป็นตัวกระทง ภายในมีไส้กระทงเป็นมะพร้าวแห้งชุบน้ำมัน สำหรับความเชื่อในการลอยกระทงนั้นก็คล้ายกับชาวไทยในภาคอื่นๆ คือเป็นการสะเดาะเคราะห์และขอขมาพระแม่คงคา แต่ในบางครั้งก็เชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที อันเป็นคติความเชื่อเหมือนกับภาคกลาง แต่บางทีก็เชื่อว่าเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระโมคคัลลีบุตรมหาสาวก (ตามอย่างความคิดอิทธิพลของพม่าที่แพร่กระจายอยู่ในดินแดนล้านนา)
จังหวัดตากนั้นมีแม่น้ำปิงไหลผ่าน โดยเฉพาะแม่น้ำปิงช่วงที่ไหลผ่านหน้าเมืองตาก ชาวตากเชื่อว่าสวยงามยิ่งกว่าที่อื่นๆ เพราะน้ำปิงช่วงนี้เป็นหาดทราย และทิวทัศน์เบื้องหลังเป็นทิวเขา ชาวจังหวัดจึงใช้สถานที่แห่งนี้ในการลอยกระทงด้วย
“ประเพณีลอยกระทงสาย ไหลประทีป 1000 ดวง” นั้น จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3-8 พฤศจิกายน ณ ริมสายธาร ลานกระทงสาย อ. เมือง จ. ตากนอกจากการลอยกระทงสายแล้ว ยังมีขบวนแห่อัญเชิญพระประทีป ถ้วยพระราชทานฯ และขบวนแห่กระทงสายทุกสาย หน้าศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การแสดงลานวัฒนธรรม การแสดงน้ำพุเริงระบำกลางลำน้ำปิง การประกวดธิดากระทงสาย การจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ฯลฯ