เป็นการแสดงประเภทศิลปะการเต้นรำประกอบดนตรี ของคนพื้นเมืองในแถบ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตลอดจนเมืองต่างๆ ของมาเลเซียตอนเหนือ เช่น กะลันตัน ไทรบุรี ปาหัง ตรังกานู ล้วนเป็นที่นิยมเล่นกันทั่วไปและแพร่ไปถึงอินโดนีเซีย
รองเง็งได้รับอิทธิพลแบบอย่างมาจากชาวยุโรป คือ ปอร์ตุเกส สเปน ซึ่งเดินเรือเข้ามาติดต่อค้าขายและตั้งเป็นอาณานิคมขึ้นในย่านนี้ เมื่อถึงเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ มีงานรื่นเริงใดๆ พวกฝรั่งซึ่งมีการเต้นรำกันสนุกสนาน ชาวมลายูพื้นเมืองเห็นเป็นแบบอย่างจึงนำมาฝึกซ้อมหัดเล่นขึ้นบ้าง โดยเริ่มแรกฝึกหัดจัดแสดงกันอยู่ในวงแคบ เฉพาะแต่ในบ้านขุนนางและวังเจ้าเมืองสุลต่าน เพื่อต้อนรับแขกเหรื่อเวลามีงานรื่นเริงต่างๆ เป็นการภายใน ภายหลังจึงได้แพร่หลายออกสู่ชาวพื้นเมือง
ในยุคแรกการแสดงรองเง็งยังอยู่ในวงจำกัด ใช้ผู้หญิงข้าทาสบริวารฝึกหัดกัน เนื่องจากวัฒนธรรมมุสลิมไม่นิยมให้สตรีเข้าสังคมใกล้ชิดกับบุรุษอย่างประเจิดประเจ้อ ต่อมาจึงใช้รองเง็งเป็นการแสดงสลับฉากฆ่าเวลาขณะเมื่อการแสดงละครมะโย่งหยุดพักครั้งละ ๑๐-๑๕ นาที เพื่อให้เกิดความสนุกสนานเชิญให้ผู้ชมลุกขึ้นมาร่วมวงด้วย ในที่สุดรองเง็งจึงได้พัฒนารูปแบบจนเป็นที่ถูกใจชาวบ้าน มีการตั้งคณะรองเง็งขึ้นรับจ้างไปแสดงตามงานต่างๆ
การแต่งกาย ผู้ชายสวมหมวกหนีบไม่มีปีก สีดำหรือโพกผ้าแบบเจ้าบ่าวมุสลิมก็ได้ นุ่งกางเกงขากว้าง ใส่เสื้อคอกลมแขนยาวผ่าครึ่งอกสีเดียวกับกางเกง ใช้ผ้าหน้าแคบคล้ายผ้าขาวม้าเรียก “ผ้าลิลินัง” หรือ “ผ้าซาเลนดัง” พันรอบสะโพกคล้ายนุ่งโสร่งสั้นทับกางเกงอีกชั้นหนึ่ง
ผู้หญิง ใส่เสื้อเข้ารูปแขนกระบอกเรียกเสื้อ “บันดง” ยาวคลุมสะโพก ผ่าอกตลอด ติดกระดุมทอง เป็นแถวยาว นุ่งผ้าถุงสีหรือลายยาวกรอมเท้า มีผ้าผืนยาวบางๆ คลุมไหล่ให้สีตัดกับสีเสื้อ
เครื่องดนตรีและเพลง เครื่องดนตรีมี ๑. กลองรำมะนา ๒. ฆ้อง ๓. ไวโอลิน (เป็นเครื่องดนตรีหลักที่สำคัญ) เพลงที่นิยมใช้เต้นรำมีราว ๗ เพลง คือ
1. เพลงลาฆูดูวอ เป็นเพลงเร็ว ชื่อเพลงหมายถึง “เพลงที่สอง”
2. เพลงลานัง เป็นเพลงเร็วและช้าสลับกัน ชื่อเพลงหมายถึง น้ำใสที่ไหลหยด น้ำตาที่ไหลปีติ
3. เพลงปูโจ๊ะปิซัง ชื่อเพลงหมายถึง “ยอดตอง” เปรียบเสมือนยอดแห่งความรักที่กำลังสดชื่น
4. เพลงจินตาซายัง ชื่อเพลงหมายถึง ความสำนึกในความรักอันดูดดื่ม
5. เพลงอาเนาะดีดิ ชื่อเพลงหมายถึง ลูกบุญธรรมหรือลูกสุดที่รัก
6. เพลงมะอีนังชวา เป็นเพลงช้าชื่อเพลงหมายถึง แม่นมหรือพี่เลี้ยงชาวชวา ได้ท่ารำคำร้องเดิมมาจากชวา
7. เพลงมะอีนังลามา ชื่อเพลงหมายถึง แม่นมหรือพี่เลี้ยง เป็นเพลงเก่าแก่
ลักษณะการเต้นรำ เมื่อดนตรีขึ้นเพลง ผู้ชายจะไปโค้งฝ่ายหญิงแล้วพากันไปเต้นรำเป็นคู่ๆ ตามจังหวะเพลง มีทั้งช้าและเร็วหรือสลับกัน กระบวนท่ามีทั้งท่ายืน ท่านั่ง ปรบมือ เล่นเท้า หมุนตัว วาดลวดลายไล่เลียงกันด้วยความชำนาญ และเข้ากับจังหวะเพลงอย่างสวยงามน่าดู สนุกสนาน เร้าใจ การเต้นรำจะไม่ถูกเนื้อต้องตัวกัน เน้นความสุภาพ ความอ่อนช้อย เน้นศิลปะความสวยงาม