วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาการตรึงเซลลูเลสด้วยวิธีการ cross linking enzyme aggregate บนตัวกลางที่สามารถใช้เอนไซม์ได้หลายรอบในการไฮโดรไลซิส การศึกษาตัวกลางที่เหมาะสมในการตรึงเอนไซม์เซลลูเลสที่ใช้ปริมาณอะซิโตไนไตรล์ (C2H3N) และความเข้มข้นของกลูตาราลดีไฮด์ (C5H8O2) ที่แตกต่างกัน ปริมาณอะซิโตไนไตรล์และความเข้มข้นของกลูตาราลดีไฮด์มีผลต่อการตรึงเอนไซม์แบบ cross-linked อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ หลังจากนั้นคัดเลือกชนิดของตัวกลาง (ซิลิกาเจล ไคโตซาน และเปลือกไข่) ที่เหมาะสมด้วยการตรึงแบบ Hybrid cellulase aggregate ที่น้ำหนัก 0.1 0.3 และ 0.5 g ไคโตซานที่น้ำหนัก 0.5 g สามารถตรึงเอนไซม์เซลลูเลสได้มากที่สุด มีค่าร้อยละการเชื่อมไขว้ เท่ากับ 88 เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมเอนไซม์เริ่มต้น จากการไฮโดรไลซิสของ CMC ที่ความเข้มข้น 2% ด้วยเอนไซม์ที่ถูกตรึงบนตัวกลางทั้งสามชนิด พบว่าการไฮโดรไลซิสด้วยเอนไซม์ที่ถูกตรึงบนซิลิกาเจลที่น้ำหนัก 0.1 g ได้ปริมาณน้ำตาล รีดิวซิ่งมากที่สุด ดังนั้น ซิลิกาเจลเป็นตัวกลางที่เหมาะสมสำหรับการตรึงเอนไซม์เซลลูเลส โดยใช้สารละลายอะซิโตไนไตรล์ 7.5 mL ตกตะกอนเอนไซม์ในสัดส่วนกิจกรรมของเอนไซม์ที่ 9 CMC Unit/ซิลิกาเจล 1 g ใช้เวลาการเขย่า 10 นาที ตรึงเอนไซม์บนตัวอย่างด้วยสารละลายกลูตาร์รอลดีไฮด์ที่ความเข้มข้น 10 mM ในระยะเวลาการตรึง 3 ชั่วโมง เป็นสภาวะที่ให้ค่าร้อยละการเชื่อมไขว้สูงที่สุด