ประวัติความเป็นมาและความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีแห่นางแมว
เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม การทำเลือกสวนนาไร่จำเป็นต้องอาศัยน้ำจำนวนมาก ดังนั้นหากวันหนึ่งฝนที่เคยตกต้องตามฤดูกาลไม่ตกเช่นเคยย่อมสร้างความเดือนร้อนให้กับชาวนาชาวไร่ทั่วไป เพราะฉะนั้นเพื่อให้ฝนตกลงมาจะได้มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตรกรรมจึงต้องทำพิธี “แห่นางแมว” ขึ้น
สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีแห่นางแมวนั้น คนไทยมีความเชื่อว่าฝนตกลงมาเพราะเทวดา เมื่อฝนไม่ตกจึงต้องทำพิธีขอฝนกับเทวดา แต่บางความเชื่อกล่าวว่าเมื่อแผ่นดินแห้งแล้ง สิ่งแวดล้อมเป็นพิษ มีควันและละอองเขม่าควันจะต้องขอน้ำจากเทวดามาช่วยล้างเพราะน้ำฝนเป็นน้ำของเทวดา เนื่องจาก เทโว แปลว่า ฝน นั่นเอง
ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับแมวนั้น คนไทยเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่มีอำนาจลึกลับ ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อนำมาทำพิธีแล้วจะช่วยเรียกฝนให้ตกลงมาได้ หรือถ้าเป็นความเชื่อของชาวอีสานจะมีความเชื่อว่าเมื่อฝนไม่ตกให้ใช้สัตว์ที่มีสีเดียวกับเมฆเรียกฝน จะทำให้ฝนตกลงมาได้เช่นกันและสัตว์ประเภทเดียวที่มีสีเมฆคือแมวสีสวาท
การทำพิธีแห่นางแมว
ช่วงเวลาในการทำพิธีแห่นางแมวนั้นจะจัดขึ้นเมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลและมีความแห้งแล้งมากจริง ๆ ซึ่งการทำพิธีนั้นต้องมีขบวนแห่ ผู้หญิงที่เข้าร่วมพิธีแห่ต้องผัดหน้าขาว ทัดดอกไม้ดอกโต ๆ ร่วมกันร้องรำทำเพลงที่สนุกสนานเฮฮา
สิ่งที่ต้องมีในพิธีแห่นางแมว
1. แมวสีสวาทหรือแมวสีดำ
2. กระบุง กะทอหรือเข่งที่มีฝาปิด
3. ดอกไม้ 5 คู่
4. เทียน 5 คู่
5. ไม้สำหรับหาม
วิธีการแห่นางแมว
การแห่นางแมวนั้นจะให้คนในหมู่บ้านมารวมตัวกัน แต่งตัวสวยงาม เมื่อได้เวลาพลบค่ำก็เริ่มขบวนแห่ โดยก่อนการแห่ต้องให้ผู้เฒ่าพูดกับแมวขณะเอาลงกะทอว่า นางแมวเอย …ขอฟ้าขอฝน ให้ตกลงมาด้วยนะ จากนั้นจึงเดินขบวนไปรอบ ๆ หมู่บ้านเพื่อให้เจ้าของบ้านทุกบ้านสาดน้ำให้แมวร้อง เพราะเมื่อแมวร้องแล้วฝนจะตกลงมา
ในขณะเดินแห่นั้นต้องให้ผู้เฒ่าผู้แก่กล่าวคำเซิ้งไปด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วคำเซิ้งของแต่ละพื้นที่มักไม่ค่อยเหมือนกัน แต่สามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่าต้องการขอให้ฝนตกนั่นเอง…