ท่าพระจันทร์โฉมใหม่
ปัจจุบันบริเวณท่าพระจันทร์ ใช้เป็นท่าเรือข้ามฟากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่ปลายสุดถนนพระจันทร์ ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้บริการเรือข้ามฟากในเส้นทางท่าพระจันทร์-วังหลัง (ท่าเรือพรานนก) และท่าพระจันทร์-ท่ารถไฟ (รพ.ศิริราช) ซึ่งภายในอาคารท่าเรือนั้น ได้รับการตกแต่งใหม่หมด ภายในนอกจากเป็นท่าเรือแล้วก็ยังจัดสร้างเป็นร้านขายของต่างๆ อีกด้วย
มื่อเดินออกมาจากตัวอาคารท่าเรือท่าพระจันทร์แล้วก็จะพบกับ "ลานคนเมืองท่าพระจันทร์" หรือ "ลานวัฒนธรรม" ลานกว้างบริเวณหน้าประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฝั่งท่าพระจันทร์ โดยเป็นที่ตั้งของตลาดท่าพระจันทร์ ที่มีร้านขายสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ และใกล้ๆ กันก็ยังเป็นที่ตั้งของอาคารพาณิชย์ที่มีร้านค้า ร้านหนังสือ ร้านอาหาร ให้ได้แวะซื้อแวะชมหลังจากนั่งเรือหรือกำลังจะไปนั่งเรือข้ามฟาก โดยร้านขายสินค้าจะเปิดขายกันในช่วงสายจนถึงช่วงเย็น
สน่ห์ของท่าพระจันทร์ไม่ได้มีเพียงเท่าที่เห็น ถ้าอยากสัมผัสท่าพระจันทร์ให้ใกล้ชิด ต้องเดินเข้าไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ เช่น ใกล้ๆ กับลานคนเมืองฯ เป็นที่ตั้งของ “ตรอกพระจันทร์กลาง” ที่ภายในนั้นเป็นที่ตั้งของร้านอาหารอร่อยๆ มากมายให้ได้เลือกแวะชิม และเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีหมอดูแม่นๆ รับดูดวงอยู่ในซอยนี้ด้วย โดยหากใครที่กำลังอยากตรวจดวงชะตาแล้วละก็ มีให้เลือกทั้งแบบไพ่ยิปซี ดูลายมือ หรือทำนายจากวันเกิด ซึ่งมีหลากหลายวิธีให้ได้เลือกสำหรับผู้ที่สนใจ
ส่วนตรอกถัดมาคือ “ตรอกนคร” และ "ตรอกสนามพระ" ที่อยู่ติดๆ กัน และมีเดินทางเชื่อมถึงกันหมด ในตรอกเหล่านี้เต็มไปด้วยร้านขายพระเครื่องและพระพุทธรูป พระเครื่ององค์เล็กๆ วางเกลื่อนกลาดอยู่บนแผง เช่นเดียวกับพระพุทธรูปองค์เล็กองค์ใหญ่ที่วางเรียงไว้ สร้างบรรยากาศที่ขรึมขลังแต่ก็เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของพ่อค้าแม่ขายและนักส่องพระที่เดินกันเต็มตรอก เช่นเดียวกับที่ “ตรอกมหาธาตุ” ที่อยู่ห่างออกมาอีกหน่อยก็เป็นศูนย์รวมพระเครื่องระดับประเทศเช่นกัน โดยภายในซอยเป็นที่ตั้งของร้านพระเครื่อง ที่ไล่เรียงตั้งแต่ร้านขนาดใหญ่ไปจนถึงแผงขนาดเล็กแบกะดิน มีหลากหลายวัตถุมงคลให้บูชา มีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักล้าน และยังมีร้านขายกรอบพระ สร้อยพระ ให้ได้ซื้อกันด้วย
ในละแวกท่าพระจันทร์แห่งนี้ ก็ยังเป็นที่ตั้งของ “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร” โดยเป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยาที่เรียกว่าวัดสลัก และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2326 ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์พร้อมกับการก่อสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดนิพพานาราม เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วัดนิพพานารามเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกใน พ.ศ. 2331 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ”
พระองค์ได้พระราชทานนามวัดใหม่อีกครั้ง ใน พ.ศ. 2346 ว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร ต่อมาใน พ.ศ. 2439 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดงานพระศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสขึ้นที่วัดแห่งนี้ และได้ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบูรณะวัดมหาธาตุและพระราชทานนามว่า “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” ซึ่งภายในวัดนั้นเงียบสงบมีโบราณสถานต่างๆ ให้ได้ชม อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ให้ผู้ที่แวะเวียนมาได้สักการะ และในทุกๆ วันพระก็จะมีการจัดกิจกรรมประติบัติธรรม ให้ได้ผู้ที่สนใจได้ร่วมกิจกรรมกันด้วยมาถึงท่าพระจันทร์แล้วต้องเข้าไปชมบรรยากาศของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เสียหน่อย แม้ว่าจะไม่ได้เต็มไปด้วยนักศึกษาเหมือนในครั้งอดีตเพราะย้ายไปที่ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตหมดแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจให้ชมไม่น้อย หากใครที่ต้องการจะชมแนวกำแพงพระนครเมื่อครั้งอดีต ก็สามารถเข้ามาชมได้ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเวณศูนย์อาหารของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการจัดแสดงแนวฐานรากกำแพงพระนครไว้ให้ชมและศึกษา อีกทั้งภายในมหาวิทยาลัยก็ยังเป็นที่ตั้งของ ลาน 60 ปี ที่มีจุดเด่นตรงที่มีรูปเหมือนของ อ.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสนการ อยู่เบื้องหน้าตึกโดมยอดแหลมอันเป็นเอกลักษณ์ บริเวณนี้มีเก้าอี้ไว้สำหรับนั่งพักผ่อนพร้อมชมวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สามารถเห็นทัศนียภาพได้อย่างกว้างไกล
ที่ย่านท่าพระจันทร์แห่งนี้ ก็ยังเป็นจุดเชื่อมโยงไปยังสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นย่านวังหลัง ที่สามารถใช้บริการเรือข้ามฟากไปได้อย่างสะดวก และสถานที่ท่องเที่ยวรอบๆ สนามหลวง อาทิ วัดพระแก้ว ศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร ก็เพียงแค่เดินย้อนเลียบถนนพระจันทร์ขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ไกลมาก จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งย่านที่น่าสนใจในการมาท่องเที่ยว และไม่ควรมองข้าม