พรรคการเมืองเดียวครองอำนาจ
การเลือกตั้งของสิงคโปร์ตั้งแต่ในยุคหลังการประกาศเอกราชเป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบัน ไม่มีพรรคการเมืองใดในสิงคโปร์ที่จะสามารถเข้ามามีเสียงข้างมากในสภาได้ การที่สมาชิกพรรคฝ่ายตรงข้ามกับพรรค PAP จะสามารถเข้ามานั่งในสภาได้ก็นับว่าเป็นเรื่องยาก และเกิดขึ้นน้อยมากเนื่องจากการใช้อำนาจทางการเมืองของรัฐบาลเพื่อกีดกัน และความอ่อนแอในตัวพรรคและนักการเมืองฝ่ายค้านเอง รวมทั้งประชาชนชาวสิงคโปร์ที่นิยม พรรค PAP เป็นอย่างมาก เสียงส่วนใหญ่ในสภาอยู่ในมือของพรรค PAP ตั้งแต่ทศวรรษที่1960 เป็นต้นมา การเลือกตั้งเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการเมืองระบอบประชาธิปไตย และพรรคPAP ที่ดูว่าเป็นเผด็จการ ก็มามีความชอบธรรมทางอำนาจมาจากการเลือกตั้งของประชาชน สิงคโปร์มีการเลือกตั้งตรงตามหลักเกณฑ์ประชาธิปไตย แต่เป็นการเลือกตั้งที่ผลิตนักการเมืองเข้าไปจัดการทางอำนาจของคนจากพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวเป็นตัวแทนของประชาชน Chan Heng Chee เสนอว่า ไม่ควรเรียกระบบพรรคการเมืองและการเลือกตั้งว่าเป็นระบบพรรคเด่นเพียงพรรคเดียว แต่ควรเรียกว่าพรรคการเมืองครองความเป็นจ้าว (Hegemonic Party System) มากกว่า เพราะว่าระบบแรกนั้น ในการเลือกตั้งมีการแข่งขันอย่างยุติธรรมระหว่างบรรดาพรรคการเมืองที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพ แต่ในระบบพรรคการเมืองครองความเป็นจ้าวนั้น เป็นการแข่งขันที่มีแต่พรรคๆเดียวที่มีโอกาสชนะ และมีความได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นๆที่อ่อนแอกว่าอย่างมาก