การทำผ้าหมักโคลนถือเป็นภูมิปัญญาจากท้องถิ่นดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์และสืบสานมาแต่โบราณของไทย โดยเฉพาะที่อำเภอศรีสัชนาลัยนั้นนับว่าเป็นแหล่งผลิตผ้าหมักโคลนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง การค้นพบความพิเศษของการทำผ้าหมักโคลนนั้น เกิดจากสมัยก่อนชาวบ้านใส่เสื้อผ้าฝ้ายออกไปทำไร่ ทำนา ซึ่งทำให้เสื้อผ้าที่สวมใส่เปรอะเปื้อนโคลนเต็มตัว ครั้นกลับมาบ้านชาวบ้านนำเสื้อผ้ามาซักเพื่อทำความสะอาด ได้พบว่าน้ำโคลนกลับมีผลดีทำให้เนื้อผ้ามีคุณสมบัติแตกต่างไปจากเดิม เช่น ผ้าฝ้ายทอมือที่เคยแข็งกระด้าง เมื่อถูกนำมาหมักน้ำโคลนแล้วนำกลับมาซัก จะทำให้เนื้อผ้ามีความนิ่ม พลิ้ว ทิ้งตัวสวยงาม ชาวบ้านสมัยก่อนจึงหาหนทางพัฒนาสานต่อเกิดเป็นภูมิปัญญาผลิตผ้าฝ้ายหมักโคลนที่ใส่สบาย ผสมผสานกับฝีมือการทอผ้าลาย ผ้ายกดอกที่ทออย่างประณีต ทำให้ผ้าหมักโคลนที่นี่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อประจำอำเภอศรีสัชนาลัยที่ใครเห็นต่างก็ต้องหาซื้อไปเป็นของฝากติดมือ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเป็นจำนวนมาก
สูตรเฉพาะและส่วนผสมของโคลนที่ใช้ทำผ้าหมักโคลนของชาวศรีสัชนาลัย ประกอบด้วย
· คลั่ง + มะเกลือ ตำทีละ ๕ กิโลกรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
· ไม้ฝางแช่ทีละ ๕ กิโลกรัม ต่อน้ำ ๒๐ ลิตร
· โคลน ๑๕ กิโลกรัม ต่อน้ำ ๓๐ ลิตร
· น้ำ ๓๐ ลิตร (ต่อ ๑ กระทะ)
· เกลือ ๗ ช้อนโต๊ะ
· ผงซักฟอก ๓ ช้อนโต๊ะ
· ฟืน ๑๒.๐๑ กิโลกรัม ต่อ ๑ กระทะ
วิธีการทำผ้าหมักโคลน
๑. นำดินจอมปลวก ๑๕ กิโลกรัม ผสมกับน้ำ ๓๐ ลิตร เพื่อทำเป็นน้ำโคลนหมักผ้า
๒. กรองน้ำโคลนด้วยผ้าขาวบางเพื่อแยกเศษไม้หรือดินโคลนออกไป
๓. น้ำผ้าผืนที่ทอไว้แล้วมาแช่น้ำโคลนทิ้งไว้ ๑ คืน
๔. น้ำผ้าที่แช่โคลนแล้วตาม ข้อ ๓. ไปซักให้สะอาด แล้วน้ำไปต้มย้อมสีธรรมชาติตามต้องการ
วิธีการย้อมสีผ้าหมักโคลน
๑. จุดไฟตั้งกระทะ โดยใช้น้ำ ๓๐ ลิตร ต่อหนึ่งกระทะ
๒. ใส่สีธรรมชาติที่เตรียมไว้ (๒ กิโลกรัม ต่อกระทะ)
๓. ใส่เกลือ ๗ ช้อนโต๊ะ ผงซักฟอก ๓ ช้อนโต๊ะ
๔. ใช้ไม้คนส่วนผสมให้เข้ากัน แล้วรอจนกว่าน้ำจะร้อน
๕. ใส่ผ้าที่ซักโคลนออกแล้วลงกระทะ และใช้ไม้คนผ้าตลอดเวลา ๑ ชั่วโมงครึ่ง เพื่อให้สีเข้ากันดี
๖. นำผ้าออกไปซักแล้วตากให้แห้ง