เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน มีชื่อเต็มว่า จอห์น โรนัลด์ รูเอล โทลคีน (John Ronald Reuel Tolkien; นามปากกาว่า J. R. R. Tolkien ) (3 มกราคม พ.ศ. 2435 – 2 กันยายน พ.ศ. 2516) เป็นกวี นักประพันธ์ นักภาษาศาสตร์ และศาสตราจารย์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงในฐานะผู้ประพันธ์นิยายแฟนตาซีระดับคลาสสิค เรื่องเดอะฮอบบิท และเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์
โทลคีนเข้าศึกษาเบื้องต้นที่โรงเรียนคิงเอดเวิดส์ เมืองเบอร์มิงแฮม และจบการศึกษาระดับปริญญาจากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เข้าทำงานครั้งแรกในตำแหน่งอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยลีดส์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2463 - 2468 ได้เป็นศาสตราจารย์สาขาแองโกลแซกซอน ตำแหน่ง Rawlinson and Bosworth Professor ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ตั้งแต่ พ.ศ. 2468 - 2488 และได้เป็นศาสตราจารย์ด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ตำแหน่ง Merton Professor ตั้งแต่ พ.ศ. 2488 - 2502 โทลคีนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์แห่งราชอาณาจักรบริเตน ระดับ Commander จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2515[1]
โทลคีนนับเป็นชาวคาทอลิกที่เคร่งครัด เป็นสมาชิกของกลุ่มที่ชุมนุมเพื่อถกเถียงด้านวรรณกรรม ชื่อ อิงคลิงส์ (Inklings) และได้รู้จักสนิทสนมกับ ซี. เอส. ลิวอิส นักเขียนนวนิยายและวรรณกรรมเยาวชน เรื่องตำนานแห่งนาร์เนีย ที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่งของอังกฤษ
หลังจากโทลคีนเสียชีวิต ลูกชายของเขา คริสโตเฟอร์ โทลคีน ได้นำเรื่องที่บิดาของตนแต่งค้างไว้หลายเรื่องมาเรียบเรียงและตีพิมพ์ รวมถึงเรื่องซิลมาริลลิออน งานประพันธ์ชิ้นนี้ประกอบกับเรื่องเดอะฮอบบิท และเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ รวมกันได้สร้างให้เกิดโลกจินตนาการซึ่งกอปรด้วยเรื่องเล่า ลำนำ บทกวี ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาประดิษฐ์ ในโลกจินตนาการที่ชื่อว่า อาร์ดา และแผ่นดินมิดเดิลเอิร์ธ ซึ่งเป็นฐานของงานประพันธ์ปกรณัมทั้งมวลของโทลคีน
แม้ว่านิยายแฟนตาซีจะมีกำเนิดมาก่อนหน้านั้นแล้ว ทว่าความสำเร็จอย่างสูงของ เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ในสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งกระแสความนิยมของนิยายแนวนี้ขึ้นมาใหม่ และทำให้โทลคีนได้รับขนานนามว่า บิดาแห่งวรรณกรรมแฟนตาซีระดับสูงยุคใหม่ (father of the modern high fantasy genre)[2] ผลงานของโทลคีนสร้างแรงบันดาลใจให้แก่งานแฟนตาซียุคหลังรวมถึงศิลปะแขนงอื่น ที่เกี่ยวข้องมากมาย ในปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ.2008) นิตยสารไทมส์จัดอันดับโทลคีนอยู่ในลำดับที่ 6 ใน 50 อันดับแรกของ "นักประพันธ์ชาวอังกฤษผู้ยิ่งใหญ่ยุคหลังปี 1945"[3]
ประวัติ
ต้นตระกูล
บรรพชนของตระกูลโทลคีนส่วนใหญ่เป็นช่างไม้ มีภูมิลำเนาดั้งเดิมอยู่ในแซกโซนี ประเทศเยอรมนี แต่ได้อพยพย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในอังกฤษตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 นามสกุลของโทลคีนได้เปลี่ยนมาจากภาษาเยอรมันคำว่า Tollkiehn (จากคำว่า tollkühn หมายถึง "มุทะลุ" รากศัพท์เดียวกับคำภาษาอังกฤษว่า dull-keen) มาเป็น Tolkien เพื่อให้เข้ากับภาษาอังกฤษ[4]
ส่วนตระกูลฝ่ายมารดาคือ ซัฟฟิลด์ ตากับยายของโทลคีนคือ จอห์น และ อีดิธ เจน ซัฟฟิลด์ เป็นคริสตชนแบ๊บติสต์พำนักอยู่ในเมืองเบอร์มิงแฮม เปิดร้านค้าอยู่ใจกลางเมืองเป็นอาคารชื่อว่า แลมบ์เฮ้าส์ ตระกูลซัฟฟิลด์เป็นตระกูลพ่อค้า มีกิจการค้าหลายอย่างนับแต่ยุคปู่ของตา คือวิลเลียม ซัฟฟิลด์ ที่เริ่มกิจการร้านหนังสือและเครื่องเขียนในปี ค.ศ.1812 ตาทวดและตาของโทลคีนสืบทอดกิจการมาตั้งแต่ปี 1826 รวมทั้งร้านเสื้อผ้าและเสื้อชั้นใน[5]
วัยเด็ก
โทลคีน และน้องชาย เมื่อปี ค.ศ. 1905
โทลคีนเกิดเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2435 (ค.ศ. 1892) ที่เมืองบลูมฟอนเทน เมืองหลวงของจังหวัดฟรีสเตท ประเทศแอฟริกาใต้ เป็นบุตรของ อาเธอร์ รูเอล โทลคีน (พ.ศ. 2400-2439, ค.ศ. 1857–1896) นายธนาคารอังกฤษ กับภรรยา มาเบล นี ซัฟฟิลด์ (พ.ศ. 2413-2447, ค.ศ. 1870–1904) ทั้งสองต้องเดินทางไปจากอังกฤษเนื่องจากอาเธอร์ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ จัดการธนาคารสาขาบลูมฟอนเทน โทลคีนมีน้องชายหนึ่งคน ชื่อ ฮิลารี อาเธอร์ รูเอล ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2437 (ค.ศ. 1894) ในวัยเด็กขณะที่อาศัยอยู่ในแอฟริกาใต้ โทลคีนเคยถูกแมงมุมในสวนของเขากัด ต่อมาภายหลังเหตุการณ์นี้ได้ไปปรากฏอยู่ในงานเขียนของเขาด้วย[6]
เมื่ออายุได้ 3 ปี โทลคีนได้กลับไปประเทศอังกฤษกับแม่และน้องชายเพื่อพักฟื้นรักษาตัว ระหว่างนั้นเองพ่อของเขาเสียชีวิตลงด้วยโรคไข้อักเสบเรื้อรังก่อนจะทันเดิน ทางกลับอังกฤษมา ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ครอบครัวไม่มีรายได้ แม่ของเขาจึงต้องนำตัวเขากับน้องไปอยู่อาศัยกับตายายในเมืองเบอร์มิงแฮม หลังจากนั้นโทลคีนต้องย้ายบ้านไปมาหลายครั้ง เช่นไป Sarehole ไป Warcestershire และย้ายมาชานเมืองเบอร์มิงแฮมอีกครั้ง แม่ของโทลคีนต้องการให้เด็กๆ เติบโตมาในที่ชนบทอากาศดีเนื่องจากสุขภาพของพวกเขาไม่ค่อยดีนัก ดังนั้นตลอดช่วงวัยเด็กโทลคีนได้เที่ยวเล่นอยู่ในเขตชนบทอันร่มรื่น ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจในงานประพันธ์ของเขาในเวลาต่อมา[6]
ความที่โทลคีนมีสุขภาพไม่ดี จึงไม่สามารถเข้าโรงเรียนตามปกติ มาเบลสอนหนังสือเด็กๆ ด้วยตัวเอง แต่พี่น้องตระกูลโทลคีนนี้ฉลาดหลักแหลมมาก แม่ของพวกเขาสอนเรื่องพฤกษศาสตร์ให้ แก่พวกเขา ซึ่งทำให้ทั้งสองคนทราบข้อมูลเกี่ยวกับพืชได้ดีมาก โทลคีนยังชอบวาดรูปทิวทัศน์และหมู่ไม้ และมีฝีมือวาดที่ดีด้วย แต่สิ่งที่โทลคีนสนใจที่สุดคือศาสตร์ทางด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาลาติน ซึ่งเขาสามารถอ่านออกได้ตั้งแต่มีอายุเพียง 4 ปี และเขียนได้หลังจากนั้นอีกไม่นาน ปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ.1900) เมื่อโทลคีนอายุได้ 8 ปี จึงได้เข้าโรงเรียนคิงเอ็ดเวิร์ด เนื่องจากความไม่เคร่งครัดเรื่องการหยุดเรียน แต่ค่าเล่าเรียนก็แพงมาก ปีเดียวกันนั้น แม่ของโทลคีนได้หันมานับถือนิกายโรมันคาทอลิก ในขณะที่ครอบครัวของเธอเองได้คัดค้านอย่างรุนแรง และตัดขาดไม่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่เธออีก โทลคีนกับน้องจึงต้องย้ายไปโรงเรียนเซนต์ฟิลลิป ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่า แต่การเรียนการสอนก็ด้อยกว่ามาก ภายหลังมาเบลตัดสินใจให้โทลคีนย้ายกลับมาโรงเรียนคิงเอ็ดเวิร์ดอีกครั้งในปี ค.ศ.1903 โทลคีนสามารถสอบเข้าเรียนได้โดยการชิงทุน[6]
ครั้นถึง ปี ค.ศ.1904 เมื่อโทลคีนมีอายุได้ 12 ปี มาเบลก็เสียชีวิตลงด้วยโรคเบาหวาน ในยุคนั้นยังไม่มีอินซูลิน มาเบลในวัย 34 ปี จึงถือว่ามีชีวิตอยู่ได้ยาวนานมากแล้วโดยไม่มียารักษา นับแต่นั้นมาจนตลอดช่วงชีวิตของโทลคีน เขารำลึกถึงแม่ในฐานะคริสตชนผู้มีศรัทธาแรงกล้า ซึ่งส่งอิทธิพลต่อเขาในการนับถือนิกายโรมันคาทอลิกอย่างเคร่งครัด[6]
หลังจากมาเบล