ไทยได้รับวัตถุโบราณยุคบ้านเชียงกลับมาเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำนครลอสแอนเจลิส รายงานมาเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ว่า นายเจษฎา กตเวทิน กงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้เปิดแถลงข่าวว่าตามที่องค์กร ชาร์ลส ดับเบิลยู บาวเออร์ส คอร์เปอเรชั่น ซึ่งเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์บาวเออร์ส (Bowers) เมืองซานตาอานา รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ลงนามข้อตกลงยุติคดีความ (Non-Prosecution Agreement) กับสำนักงานอัยการสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2557
เพื่อให้ยุติการดำเนินคดีกับพิพิธภัณฑ์บาวเออร์ส กรณีที่ถูกหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาตรวจพบว่า โบราณวัตถุบ้านเชียงที่อยู่ในครอบครองของพิพิธภัณฑ์จำนวน 557 รายการ ถูกลักลอบนำออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และตามข้อตกลงฉบับนี้กำหนดให้พิพิธภัณฑ์บาวเออร์สต้องส่งมอบโบราณวัตถุบ้านเชียงที่อยู่ในความครอบครองคืนให้กับประเทศไทย ซึ่งจากการติดตามของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ทราบว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์บาวเออร์ส ได้จัดส่งโบราณวัตถุบ้านเชียงจำนวน 557 รายการ คืนประเทศไทยแล้ว โดยขนส่งทางเรือและมาถึงท่าเรือกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวนี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิสได้ประสานงานและติดตามอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาในรัฐแคลิฟอร์เนียและสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 เพื่อเร่งรัดกระบวนการและให้มีการส่งคืนโบราณวัตถุต่างๆกลับสู่ประเทศไทยโดยเร็ว และยังได้ประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศและกรมศิลปากร เพื่อเตรียมรับมอบโบราณวัตถุดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จึงถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานของไทยและสหรัฐอเมริกา เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบค้าโบราณวัตถุระหว่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย
ด้านนายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า เกี่ยวกับการส่งคืนโบราณวัตถุบ้านเชียงนี้ กรมสารนิเทศ รับผิดชอบดูแล ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ทราบว่านายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทำหนังสือแจ้งให้กรมศิลปากรทราบเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเมื่อโบราณวัตถุมาถึงประเทศไทย ก็เป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรที่จะติดต่อประสานงานกับกรมศุลกากร ในการตรวจรับมอบโบราณวัตถุตามรายการที่แจ้งมา กระทรวงการต่างประเทศได้ทำหน้าที่ประสานงานติดตามนำกลับคืนมาสู่ประเทศไทยแล้ว จากนี้ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการต่อ
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ขณะปฏิบัติราชการที่ประเทศกัมพูชาว่า กรมศิลปากรเคยได้รับการประสานงานจากทางการสหรัฐอเมริกา และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ว่าทางอัยการสหรัฐอเมริกาตรวจพบโบราณวัตถุสมัยบ้านเชียงลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายจำนวนมาก ดังนั้น จึงต้องการให้ไทย โดยกรมศิลปากรพิสูจน์รูปแบบศิลปะของหลักฐานโบราณวัตถุ และต้องการให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งในขณะนั้นกรมศิลปากรตอบปฏิเสธที่จะเดินทางไป เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทางสหรัฐอเมริกาจึงส่งโบราณวัตถุทั้งหมดมาทางเรือมายังประเทศไทย เพื่อให้กรมศิลปากรพิสูจน์แทน
อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวอีกว่า การดำเนินงานพิสูจน์ตามขั้นตอนหลังจากจัดส่งมาถึงประเทศไทยแล้ว กรมศิลปากรจะส่งเจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ พร้อมด้วยนักกฎหมาย กรมศุลกากร ไปร่วมกันพิสูจน์หลักฐานว่าเป็นโบราณวัตถุบ้านเชียงจริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ตรวจสอบไม่ยาก เพราะโบราณวัตถุศิลปะบ้านเชียงนั้นมีลักษณะเป็นภาชนะดินเผาลายเขียนสี เครื่องมือเครื่องใช้เป็นโลหะสำริด นอกจากนี้ จะตรวจสอบไปถึงการนำออกจากประเทศไทยอีกด้วย หากพิจารณาแล้วว่าเป็นโบราณวัตถุของไทย ก็จะรับมอบอย่างเป็นทางการ จากนั้นจะนำกลับมาเก็บไว้ยังคลังโบราณวัตถุ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จ.ปทุมธานี เพื่อทำการอนุรักษ์ และนำมาขึ้นทะเบียนตามลำดับอายุยุคสมัยของโบราณวัตถุแต่ละชนิด รวมทั้งจะนำมาจัดแสดงให้ประชาชนได้ศึกษาต่อไป แต่หากศึกษาดูแล้ว พบว่าไม่ใช่ของประเทศไทย ก็อาจจะต้องส่งคืนกลับไปยังประเทศต้นทางต่อไป