จากการสนทนากับคุณยายวัย 75 ปี ผู้ศึกษาทราบว่าหญิงสาวในรุ่นคุณยาย เมื่ออายุราวๆ 16-18 ปีหากตั้งครรภ์และมีบุตรสังคมขณะนั้นก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” หรือ “ไม่สมควร” แต่น่าสังเกตว่า การตั้งครรภ์ของหญิงสาวอายุระหว่าง 10-20 ปี ซึ่งผู้คนในสังคมปัจจุบันมองว่าเป็น “วัยรุ่น” และ “วัยเรียน” มักถูกนำเสนอในเชิงลบเช่น “เด็กไทยใจแตก! แค่ 10 ขวบตั้งท้อง”(ข่าวสดรายวัน 2552)ซึ่งก็ถือว่า สังคมให้ความหมาย จัดการ และควบคุมหญิงตั้งครรภ์และมีบุตรตั้งแต่อายุยังน้อยแตกต่างกันไปตามยุคสมัย เรื่องที่ดูเหมือน “ปกติ” “ธรรมดา” ในยุคสมัยหนึ่งอาจกลายเป็นเรื่องที่ถูกนิยามว่า “ผิดปกติ” “ไม่เหมาะสม” ในอีกยุคหนึ่งได้เมื่อสำรวจงานวิชาการที่ศึกษาปรากฏการณ์การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นหญิงในสังคมไทย พบว่า งานส่วนใหญ่โดยเฉพาะสาขาการแพทย์ พยาบาล จิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ รวมทั้งนโยบายและแผน ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2540มักมาจากสมมติฐานที่ว่า การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นหญิง“ไม่พึงประสงค์” และ “เป็นปัญหาสังคม”ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ จัดการ และควบคุม ประเด็นที่ศึกษาจึงมักเกี่ยวข้องกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นมารดาวัยรุ่น ผลกระทบของการเป็นมารดาวัยรุ่น ความต้องการของแม่วัยรุ่นในเชิงสวัสดิการ และการพัฒนาบทบาทของการเป็นมารดาที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งสะท้อนสมมติฐานข้างต้นจนกระทั่งหลังปี พ.ศ. 2540 ประเด็น “แม่วัยรุ่น” จึงได้รับความสนใจในสังคมศาสตร์สาขาอื่นๆ มากขึ้น พร้อมๆไปกับความสนใจประเด็นครอบครัวที่มีลักษณะพิเศษครอบครัวที่ต่างไปจากขนาบสังคม เช่น การดำเนินชีวิตในรูปแบบ
“แม่เลี้ยงเดี่ยว”(single mom) อย่างไรก็ตาม พบว่าความสนใจปรากฏการณ์แม่วัยรุ่น ที่สัมพันธ์กับบริบทของประสบการณ์ชีวิตความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นหญิงโดยเฉพาะที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนยังมีค่อนข้างน้อยและยังคงมองประสบการณ์ชีวิตของแม่วัยเรียนในลักษณะ“สถิต”เช่น มองประสบการณ์ชีวิตในช่วงตั้งครรภ์กับหลังจากคลอดบุตรแล้วในลักษณะที่แยกขาดออกจากกัน องค์ความรู้เรื่องวัยรุ่นหญิงตั้งครรภ์หรือแม่วัยรุ่นจึงมีช่องว่างที่สมควรได้รับการเติมเต็มในที่นี้พยายามจะทำความเข้าใจถึงพลวัตผ่านช่วงวัยต่างๆช่วงชีวิตต่างๆ ของแม่วัยรุ่น ประสบการณ์ชีวิตและความสัมพันธ์กับสมาชิกในกลุ่มสังคมต่างๆ เช่น ในครอบครัว เพื่อนต่างเพศ การตั้งครรภ์ การเป็นแม่พวกเธอให้นิยามตนเองว่าเป็นหญิง“ใจแตก” ตามที่สังคมมองพวกเธอหรือหรือมีมุมมองต่อตนเองอย่างไร และนี่คือโจทย์ของเรื่องที่มาจากความจริงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ว่า ประสบการณ์ในแต่ละช่วงชีวิตเช่น ความเป็นเด็ก ความเป็นแม่ ล้วนมีส่วนหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิดและการตัดสินใจของบุคคล(Hunt 2005: 7-9) เช่นเดียวกับที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศภาวะ(Gender) เชื้อชาติ (Race) ชนชั้น (Class) และอายุ (Age) ต่างก็มีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมความรู้สึกนึกคิดการมองโลก การตัดสินใจของบุคคล และไม่เว้นแม้แต่ในหญิงที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน ดังนั้นในงานวิจัยนี้ ผู้ศึกษาจึงไม่ได้เริ่มศึกษาจากการตั้งฐานสมมุติ(assumption) ไว้ก่อนว่าแม่วัยรุ่น เป็น “ปัญหาสังคม” หากแต่สนใจศึกษาประสบการณ์ชีวิตของวัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนที่สัมพันธ์กับริบททางสังคม วัฒนธรรม เพศภาวะ และเพศวิถีในสังคมไทย โดยดูว่าวัยรุ่นหญิงมีประสบการณ์ชีวิตอย่างไร มีประสบการณ์ทางเพศ การตั้งครรภ์ การปรับตัว การเป็นแม่อย่างไร และพวกเธอให้ความหมายกับประสบการณ์เหล่านั้นอย่างไรเพื่อสะท้อนประสบการณ์ชีวิต ความรู้สึก และ “เสียง” ของแม่วัยรุ่นในมุมมองที่หลากหลายขึ้น