UAV (Unmanned Aerial Vehicle) เป็นอากาศยานไร้คนขับ ที่ถูกนำมาใช้ในภารกิจที่มี ความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ การถ่ายภาพทางอากาศยานอเนกประสงค์ และการสำรวจสัตว์ป่า รวมทั้งต่อต้านการล่าสัตว์ การสำรวจการตัดไม้ทำลายป่า สำรวจความเดือดร้อนจากภัยพิบัติน้ำท่วม และการถ่ายวิดีโอโฆษณาสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ ตลอดจนการเก็บข้อมูลภาพวีดีโอแบบเรียลไทม์ (Real Time) โดยมีรูปร่าง ขนาด และรูปแบบ ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่ลักษณะการใช้งาน อากาศยานไร้คนขับรูปแบบหนึ่งที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน คือ “โดรน” (Drone) หรือ “มัลติโรเตอร์” (Multi Rotor) ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยการบังคับระยะไกลผ่านคลื่นวิทยุ ใช้กล้องบันทึกภาพและวีดีโอ มีชุดรับ-ส่งภาพ (Video Transmitter and Video Receiver) และใช้แบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงาน
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผู้จัดทำโครงงานเล็งเห็นถึงความน่าสนใจของเทคโนโลยีมัลติโรเตอร์ จึงได้ทำการประกอบมัลติโรเตอร์มาสนับสนุนการถ่ายภาพ และบันทึกวีดีโอ โดยโครงงานนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและประกอบมัลติโรเตอร์ 4 ใบพัด สำหรับการถ่ายภาพทางอากาศและบันทึกวีดีโอมุมสูงเพื่อการสำรวจบนภาคพื้นดิน ซึ่งสามารถรับ-ส่งภาพ ได้ในระดับความสูงที่ 100-300 เมตร และสามารถรับ-ส่งภาพได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะทาง 500 เมตร เพื่อสนับสนุนการถ่ายภาพ และวีดีโอมุมสูง โดยผู้จัดทำโครงงาน ได้ทำการศึกษาทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ทฤษฎีหลักการทำงานของมัลติโรเตอร์ 4 ใบพัด ทฤษฎีชุดควบคุมและประมวลผล ทฤษฎีชุดขับเคลื่อน ทฤษฎีการควบคุมด้วยคลื่นวิทยุ ทฤษฎีระบบระบุตำแหน่ง และทฤษฎีกล้องถ่ายภาพ และทำการประมวลทฤษฎีต่างๆ มาประกอบเป็นมัลติโรเตอร์
ผลการทดลองของมัลติโรเตอร์ 4 ใบพัด สามารถควบคุมรัศมีการบินได้ระยะ 500 เมตร และความสูงที่ 100-300 เมตร โดยสามารถรับ-ส่งภาพจากกล้องถ่ายภาพและวีดีโอกลับมายังภาคพื้นดินแสดงผลบนจอมอนิเตอร์แบบเรียลไทม์ แสดงสถานะต่างๆ ของมัลติโรเตอร์ได้ เช่น แรงดันแบตเตอรี่ ระยะห่างจากจุดควบคุม ระดับความสูง ทิศทางการบิน จากข้อมูลที่ทดลองดังกล่าว สามารถนำไปใช้งานจริงได้ตามความต้องการ เพื่อความสะดวกและลดอัตราเสี่ยงในสถานที่ที่อาจเกิดอันตรายต่อมนุษย์