ชื่อสมุนไพร : ตะไคร้
ชื่อสามัญ (ชื่อภาษาอังกฤษ) : Lemon Grass, Lapine
ชื่ออื่น : จะไคร้ (ภาคเหนือ) ไคร (ภาคใต้) คาหอม (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) ห่อวอตะไป่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) หัวสิงโต (เขมร-ปราจีนบุรี) ตะไคร้แกง (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbopogon citratus Stapf.
ชื่อวงศ์ : Poaceae (Gramineae)
ส่วนที่ใช้ : ทั้งต้น ราก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :
* ต้นตะไคร้ เป็นพรรณไม้ล้มลุก จะขึ้นเป็นกอใหญ่ สูงประมาณ 1 เมตร ลักษณะของลำต้นเป็นรูป ทรงกระบอก แข็ง เกลี้ยงและตามปล้องมักมีไขปกคลุมอยู่ เป็นพรรณไม้ที่มีอายุหลายปี
* ใบตะไคร้ ใบเดี่ยว แตกใบออกเป็นกอ รูปขอบขนาน ปลายใบแหลม และผิวใบจะสากมือทั้งสองด้าน เส้นกลางใบแข็ง ขอบใบจะมีขนขึ้นอยู่เล็กน้อย มีสีเขียวกว้างประมาณ 2 ซม. ยาว 2-3 ฟุต
สรรพคุณตะไคร้
ตำรายาไทย:
ต้นตะไคร้ รสหอมปร่า ขับลม ลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด แก้อาการเกร็ง ขับเหงื่อ แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้อาการขัดเบา แก้นิ่ว แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ทำให้เจริญอาหาร ลดความดันโลหิต เหง้า แก้เบื่ออาหาร บำรุงไฟธาตุ แก้กษัย ขับลมในลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ปัสสาวะขัด แก้ปัสสาวะพิการ แก้นิ่ว เป็นยารักษาเกลื้อน แก้ไข้หวัด ขับประจำเดือน ขับระดูขาว ใช้ภายนอกทาแก้อาการปวดบวมตามข้อ
ตำรายาพื้นบ้านนครราชสีมา: ใช้ทั้งต้น ลดไข้ โดยนำมาต้มจนเดือดประมาณ 10 นาที ยกลงดื่มครั้งละครึ่งแก้วสามเวลา ใช้ภายนอกรักษาโรคผิวหนังโดยต้มกับน้ำ และนำมาอาบ
ตำรับยาสมุนไพรล้านนา: ใช้รักษาอาการบวมในเด็ก วัยกลางคน และคนชรา โดยในตำรับประกอบด้วยตะไคร้ และสมุนไพรอื่นอีก 13 ชนิด นำไปต้มอาบ
ทางสุคนธบำบัด น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้บ้าน ช่วยกระตุ้นให้ตื่นตัว มีชีวิตชีวา ทำให้กระปรี้กระเปร่า คลายเครียด แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร ช่วยเจริญอาหาร บรรเทาอาการปวดโรคข้ออักเสบ ปวด
ตะไคร้จัดเป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาประกอบอาหาร โดยตะไคร้แบ่งออกเป็น 6 ชนิด ซึ่งได้แก่ ตะไคร้หอม ตะไคร้กอ ตะไคร้ต้น ตะไคร้น้ำ ตะไคร้หางนาค และตะไคร้หางสิงห์ ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยที่นิยมปลูกทั่วไปในบ้านเรา
ตะไคร้ เป็นสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยประโยชน์ของตะไคร้ และสรรพคุณของตะไคร้นั้นมีมากมาย สรรพคุณตะไคร้เป็นทั้งยารักษาโรค และยังมีทั้งวิตามิน และแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย เช่น วิตามินเอ ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เป็นต้น
1. ตะไคร้มีส่วนช่วยในการขับเหงื่อ
2. ต้นตะไคร้เป็นยาบำรุงธาตุไฟให้เจริญ
3. ตะไคร้มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยในการเจริญอาหาร
4. ต้นตะไคร้ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร
5. สารสกัดจากตะไคร้มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคเมะเร็งลำไส้ใหญ่
6. ตะไคร้ช่วยแก้ และบรรเทาอาการหวัด อาการไอ
7. ใบสดช่วยรักษาอาการไข้ ส่วนรากเป็นยาแก้ไข้เหนือ
8. น้ำมันหอมระเหยของใบตะไคร้ สามารถบรรเทาอาการปวดได้
9. ใบสดตะไคร้ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง
10. หัวตะไคร้ช่่วยแก้อาการกษัยเส้น
11. ต้นตะไคร้ช่วยรักษาโรคหอบหืด
12. รากช่วยแก้อาการเสียดแน่นแสบบริเวณหน้าอก
13. รากใช้เป็นยาแก้อาการปวดท้อง และอาการท้องเสีย
14. หัวตะไคร้ช่วยรักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยแก้ และบรรเทาอาการปวดท้อง
15. ช่วยในการขับน้ำดีมาช่วยในการย่อยอาหาร
16. น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ มีส่วนช่วยลดการบีบตัวของลำไส้ได้
17. หัวตะไคร้มีฤทธิ์ช่วยในการขับปัสสาวะ ช่วยแก้อาการปัสสาวะพิการ และรักษาโรคนิ่ว
18. หัวตะไคร้ช่วยแก้อาการขัดเบา
19. หัวตะไคร้ช่วยแก้ลมอัมพาต
20. หัวตะไคร้ใช้เป็นยารักษาเกลื้อน
21. น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ สามารถช่วยต่อต้านเชื้อราบนผิวหนังได้เป็นอย่างดี
22. ต้นตะไคร้ช่วยดับกลิ่นคาวหรือกลิ่นคาวของปลาได้เป็นอย่างดี
23. ต้นตะไคร้ช่วยแก้ปัญหาผมแตกปลาย
24. ช่วยในการบำรุงและรักษาสายตา
25. ตะไคร้ช่วยระงับกลิ่นต่างๆ
26. กลิ่นหอมของตะไคร้สามารถช่วยไล่ยุง และกำจัดยุง และแมลงได้
27. ต้นตะไคร้ช่วยแก้โรคหนองใน
28. ทั้งต้นตะไคร้ช่วยแก้อาการขาบวมน้ำ
ต้นตะไคร้
หัวตะไคร้
ตะไคร้ซอย
รูปแบบ และขนาดวิธีการใช้ตะไคร้เป็นยา
ตะไคร้กับการรักษาอาการขัดเบา
ใช้เหง้า และลำต้นตะไคร้สด หรือแห้ง 1 กำมือ หรือน้ำหนักสด 40-60 กรัม แห้ง 20-30 กรัม ทุบต้มกับน้ำพอควร แบ่งดื่ม 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ถ้วยชา (75 มิลิลิตร) ก่อนอาหาร หรือจะหั่นตะไคร้ คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ พอเหลือง ชงด้วยน้ำเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ 5-10 นาที ดื่มแต่น้ำ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ถ้วยชา ก่อนอาหาร
ตะไคร้กับการรักษาท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด
ใช้เหง้าตะไคร้ และลำต้นตะไคร้สด 1 กำมือ น้ำหนัก 40-60 กรัม ทุบพอแตก ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เดือด 5-10 นาที ดื่มแต่น้ำ ครั้งละ 1/2 แก้ว วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
ตะไคร้ หรือตะไคร้แกง ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ลดความดันโลหิต ลดอัตราการเต้นของหัวใจ กดประสาทส่วนกลาง ระงับอาการปวด ลดอุณหภูมิของร่างกาย ขับพยาธิไส้เดือน ต้านออกซิเดชัน กระตุ้นระบบประสาท ฝาดสมาน ขับลม บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ และอาการปวดจากลำไส้อักเสบ เป็นสารฆ่าแมลง