การแข่งเรือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวฉะเชิงเทรา ซึ่งมีความผูกพันกับแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาแต่โบราณกาลพิธีกรรม การแข่งเรือ นับเป็นประเพณีที่มีการปฏิบัติการมาเป็นเวลายาวนาน โดยถือกำหนดในวันที่มีการแห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำเป็นสำคัญ คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ของทุกปี แต่เดิมจัดขึ้นที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง หน้าตัวเมือง แต่ปัจจุบันได้ย้ายไปจัดบริเวณหน้าวัดโสธรวรวิหาร เรือที่เข้าแข่งมีหลายประเภท ตั้งแต่เรือยาวเล็ก เรือยาวใหญ่ เรือเร็วติดเครื่องยนต์ ฯลฯ การแข่งเรือยาวฝีพายแต่ละลำมีจำนวนประมาณ 50 คนมีหัวหน้าควบคุมเรือ 1 คน จังหวะการพายจะพาย 2 ต่อ 1 คือ ฝีพาย 2 ครั้ง ผู้คัดท้ายจะพาย 1 ครั้ง กติกาการแข่งขันผู้ชนะจะต้องชนะ 2 ใน 3 คือ เมื่อแข่งเที่ยวแรกไปแล้ว จะเปลี่ยนสายน้ำสวนกัน ถ้าชนะ 2 ครั้งติดต่อกันถือว่าชนะ แต่ถ้าผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะจะมีการแข่งขันเที่ยวที่ 3 สาระสำคัญ นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่ผูกพันกับผืนน้ำของผู้คนแล้วยังเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความสมานสามัคคีของบุคคลผู้ที่ได้ชื่อว่าอยู่ในเรือลำเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝน การทุ่มเทแรงกายแรงใจ ความพร้อมเพรียงจังหวะและการประสานสัมพันธ์ ที่ทำให้ไปสู่จุดมุ่งหมายได้โดยมิใช่อาศัยความสามารถของคนใดคนหนึ่ง