ดินแดนกัมพูชาหรืออาณจักรขอมโบราณนั้นได้รับอิทธิพลทางศาสนาและวัฒนธรรมจากอินเดียเต็มตัวโดยเฉพาะความเชื่อตามคติในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลก่อนพุทธศาสนาเนิ่นนานนักศาสนานี้ยกย่องกษัตริย์เสมอดั่งเทพเจ้าเรียกว่า “ ลัทธิเทวราชา ” นั่นหมายถึงว่า กษัตริย์คือตัวแทนของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์และวิธีการยกย่องก็กระทำโดยการสร้างเทวสถานหรือเทวาลัยถวายให้ พระราชภารกิจของกษัตริย์ขอมทุกพระองค์ ที่จะต้องสร้างปราสาทหินเป็นเทวสถานแด่บรรพบุรุษหรือถวายแด่พระองค์เอง ฉะนั้นคำว่า “ ปราสาท ” ในที่นี้จึงมิได้หมายถึงปราสาทราชวังอันเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ แต่ปราสาทคือศาสนสถานอันถือเป็นที่ประทับของเทพเจ้าบนโลกมนุษย์ รูปแบบทางสถาปัตยกรรมก็จะต้องเป็นแบบ “ ศาสนสถานบนฐานที่เป็นชั้น ” และขุดสระหรือคูน้ำที่เขมรเรียกว่า“บาราย” ล้อมรอบมีลวดลายสลักหินเป็นรูปพญานาคซึ่งเป็นสัญลักษณ์น้ำและความอุดมสมบูรณ์ เปรียบเทียบได้กับเขาพระสุเมรุที่ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร อันเป็นสัญลักษณ์ของระบบสุริยจักรวาลตามคติฮินดูนั่นหมายว่า ปราสาทหินที่กษัตริย์ขอมสร้างขึ้นก็คือศูนย์กลางของโลกและจักรวาลอันยิ่งใหญ่นั่นเอง