โครงงานวิจัยนี้ได้ศึกษาการจัดการห่วงโซ่อุปทานการผลิตโคขุน กรณีศึกษากลุ่มผู้เลี้ยงโคขุน อำเภอดอกคำใต้ จังหวัด พะเยา ซึ่งปัจจุบันกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือก็มีปริมาณการเลี้ยงโคเนื้อ (โคขุน) ที่เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันจังหวัดพะเยามีการเพาะเลี้ยงโคเนื้อเป็นจำนวนกว่า 58,620 ตัว โดยอำเภอที่มีการเพาะเลี้ยงมากที่สุด สองอันดับแรกคือ อำเภอเมือง 12,948 ตัว และอำเภอดอกคำใต้ 11,796 ตัว (ข้อมูลศูนย์สารสนเทศกรมปศุสัตว์, 2555) เห็นได้ว่าจากข้อมูลดังกล่าวการเลี้ยงโคขุนภายในจังหวัดพะเยามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องๆ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคขุนก็คือ ต้นทุนการผลิตที่สูงอันเกิดจากราคาอาหารสัตว์ที่สูงและต้นทุนด้านโลจิสติกต์ต่างๆ
จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาผู้จัดการโครงการได้สร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่เทียบกับห่วงโซ่อุปทานเดิมซึ่งจะเห็นได้ว่าห่วงโซ่อุปทานเดิมทั้งแบบเลี้ยงปล่อยทุ่งและเลี้ยงโดยใช้อาหารสำเร็จรูป ให้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าห่วงโซ่อุปทานการผลิตโคขุนแบบใหม่ โดยคิดเป็นร้อยละ 40.16 และ 35.52 ตามลำดับ