ชื่อ ระบำเชียงแสน
ประเภทการแสดง ระบำ
ประวัติที่มา ระบำเชียงแสน เป็นระบำชุดที่ ๔ ประดิษฐ์ขึ้นตามแบบศิลปะ และโบราณวัตถุสถานเชียงแสน นักโบราณคดีกำหนดสมัยเชียงแสน อยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๒๕ ซึ่งได้เผยแพร่ไปทั่วดินแดนภาคเหนือของประเทศไทย ในสมัยโบราณเรียกว่าอาณาจักรลานนา ต่อมามีนครเชียงใหม่เป็นนครหลวงของอาณาจักร และเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาพระพุทธศาสนาฝ่ายหินยานอันเจริญรุ่งเรือง จนถึงมีพระเถระไทยผู้เป็นนักปราชญ์สามารถแต่งตำนาน และคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นภาษาบาลีขึ้นไว้หลายคัมภีร์ อาทิ คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ และมังคลัตถทีปนี เป็นต้น ศิลปะแบบเชียงแสนได้แพร่หลายลงมาตามลุ่มแม่น้ำโขงเข้าไปในพระราชอาณาจักรลาว สมัยที่เรียกว่าลานช้าง หรือกรุงศรีสัตนาคนหุต แล้วแพร่หลายเข้าในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนด้วย เช่น พระพุทธรูปบางชนิดที่นักโบราณคดีบางท่าน บัญญัติเรียกว่า พระพุทธรูปเชียงแสนแบบลาว หรือพระลาวพุงขาว ด้วยเหตุนี้ระบำเชียงแสนจึงมีลีลาท่ารำ และกระบวนเพลงแบบสำเนียงไทยภาคเหนือ ลาว และแบบไทยภาตะวันออกเฉียงเหนือปนอยู่ด้วย
ระบำเชียงแสน จัดแสดงครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๐ และภายหลังได้นำออกแสดงในโรงละครแห่งชาติ และที่อื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนชม
นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ เป็นผู้แต่งทำนองเพลง
นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร และนางเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ
นายสนิท ดิษฐพันธ์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย นางชนานันท์ ช่างเรียน สร้างเครื่องแต่งกาย นายชิต แก้วดวงใหญ่ สร้างศิราภ