ประวัติความเป็นมาของการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์
เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนพลังน้ำแห่งแรกที่สร้างขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นแห่งที่ 2 รองจากเขื่อนภูมิพล ตัวเขื่อนสร้างปิดกั้นแม่น้ำพอง ตรงบริเวณ ที่เรียกว่า "พองหนีบ" ตำบลโคกสูง อำเภอน้ำพอง กิ่งอำเภออุบลรัตน์ ในสมัยก่อน หรืออำเภออุบลรัตน์ในปัจจุบัน จังหวัดขอนแก่น ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่น 50 กิโลเมตร ได้เริ่ม ดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2502 เมื่อคณะกรรมการประสายงานอันประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เวียดนามใต้ และไทย ซึ่งอีค่าเฟ่ (คณะกรรมมาธิการเศรษฐกิจแห่งเอเชีย) เป็นผู้จัดตั้ง ขึ้นและได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่น ได้ทำการสำรวจลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง และได้เสนอให้พิจารณาโครงการลำน้ำพองเป็นอันดับแรก เพราะเห็นถึงคุณประโยชน์ ์แก่การพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมารัฐบาลไทยได้เจรจาเพื่อทำสัญญากู้เงินจากธนาคาร เพื่อการบูรณะแห่งสหพันธสาธารณรัฐเยอรมันนีเพื่อการก่อสร้างและออก พระราชบัญญัติให้การไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2504 การก่อสร้างได้เริ่มต้นในปี พ.ศ.2507 และแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ขนานนามเขื่อนว่า "เขื่อนอุบลรัตน์" และทำพิธีเปิดโดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราช ดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญาฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนอุบลรัตน์เพื่อส่งกระแสไฟฟ้าในวันที่ 14 มีนาคม 2509
เขื่อนอุบลรัตน์ เดิมชื่อ เขื่อนพองหนีบ สร้างปิดกั้นแม่น้ำพองที่อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เป็นเขื่อน ไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกที่ กฟผ. ได้สร้างขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นแห่งที่สอง ของประเทศไทยต่อมาจาก เขื่อนภูมิพล ตัวเขื่อนเป็นหินถมแกนดินเหนียว มีความยาว 885 เมตร สูง 32 เมตร ระดับสันเขื่อนอยู่ที่ +185 เมตร (รทก.-ระดับน้ำทะเลปานกลาง) สันเขื่อนกว้าง 6 เมตร ฐานเขื่อนกว้าง 120 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 2,263ล้านลูกบาศก์เมตร อาคารโรงไฟฟ้า ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายมือตัวเขื่อน ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 8,400 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 25,200 กิโลวัตต์ ต่อมา กฟผ. ได้ทำการปรับปรุงเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของเขื่อนในการบรรเทา อุทกภัยให้สูงขึ้น และเป็นการเสริมความปลอดภัยให้แก่ตัวเขื่อนโดยการเสริมสันเขื่อนจากระดับ +185 เมตร (รทก.) เป็นที่ระดับ +188.10 เมตร (รทก.) ส่วนฐานเขื่อนด้านท้ายขยายจากเดิมซึ่งกว้าง 120 เมตร เป็น 125 เมตร โดยเริ่มดำเนิน การตั่งแต่ปลายปี 2527 และปรับปรุงแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2530