ประวัติความเป็นมาของเทียนพรรษาเมืองอุบลฯ
พรรษา คือ ช่วงระยะเวลา 3 เดือนในฤดูฝนที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องปฏิบัติธรรมอยู่วัดใดวัดหนึ่งโดยตลอดจะไปค้างคืนที่วัดอื่นไม่ได้ ข้อห้ามที่ให้พระอยู่วัดใดวัดหนึ่งตลอด 3 เดือนนี้ เพราะฤดูฝนเป็นฤดูเพาะปลูก ข้าวกล้าพืชผลของชาวบ้านกำลังเขียวขจี ถ้าพระออกเดินทางในฤดูนี้จะไปเหยียบย่ำข้าวกล้าพืชผลของชาวบ้านเสียหายได้ พระพุทธเจ้าจึงได้บัญญัติให้พระภิกษุสงฆ์หยุดเข้าพรรษาหรือหยุดพักฝน 3 เดือนไม่ให้จาริกเดินทางไปค้างคืนที่อื่นๆ (เข้าพรรษาแปลว่าพักฝน) การเข้าพรรษาจึงมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลหรือตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้า
เทียนพรรษา ในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์นั้นจะเป็นการทำเทียนร่วมกันของชาวบ้านในแต่ละคุ้ม (คุ้ม คือ กลุ่มชุมชนเล็กๆ ของชุมชนใหญ่ ในแต่ละหมู่บ้านจะมีหลายคุ้ม) โดยการนำขี้ผึ้งมารวมกัน ต้มให้ละลายแล้วเทใส่เบ้าหลอม ตกแต่งให้สวยงามแล้วใส่คานหามหรือบรรทุกใส่เกวียน นำเข้าขบวนแล้วแห่ไปรวมกันที่หน้าศาลากลางมณฑล เมื่อทุกคุ้มมารวมพร้อมกันแล้ว พระองค์จะประทานรางวัลให้กับคุ้มที่ทำต้นเทียนได้สวยงาม เสร็จแล้วจะให้จับฉลากว่าคุ้มไหนจะถวายเทียนวัดอะไร เมื่อรู้ว่าจะไปถวายวัดอะไรแล้วแต่ละคุ้มก็จะแห่แหนไปถวายวัดนั้น การแห่เทียนพรรษาจึงเริ่มมีตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา