หนังไทยส่วนหนึ่ง มักจะสร้างย้อนยุคไปในอดีต โดยมักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ วิถีชีวิตของทาส ไพร่ เจ้าขุนมูลนาย ส่วนหนังฝรั่งส่วนหนึ่งมักจะสร้างโดยจินตนาการไปในอนาคต เกี่ยวกับความทันสมัยและก้าวไกลของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งด้านฟิสิกส์ เคมี ชีวะ
ในทางตรงกันข้าม ผมไม่เคยสังเกตเห็นหนังไทยที่สร้างโดยจินตนาการไปในอนาคต และ หนังฝรั่งที่สร้างโดยย้อนยุคไปในอดีต (หรืออาจจะมีก็ได้แต่ผมไม่ทราบ)
ถ้าแนวการสร้างหนังเป็นไปตามข้อสังเกตของผมดังกล่าวจริง ผมขอวิเคราะห์ตามทรรศนะส่วนตัวของผม ถึง “วิธีคิด” ระหว่าง ไทย และ ฝรั่ง ดังนี้ครับ
วิธีคิดแบบหนังไทย คือ การมองไปในอดีตที่ตราตรึง
ข้อดี ทำให้มองเห็นอัตลักษณ์ของความเป็นไทยที่ชัดเจน ว่า เราคือใคร มาจากไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร
ข้อจำกัด เป็นการมองอย่างแยกส่วน ไม่เห็นความเป็นพลวัตของความเปลี่ยนแปลงตามกระแสสังคมและกระแสโลก ทำให้เราย่ำอยู่กับที่ เป็นวิธีคิดที่อาจถูกครอบงำได้ง่ายด้วยลัทธิ “อำนาจนิยม” ทำให้เกิดวิถีชีวิตแบบ “สยบยอม” อันเกิดจาก “การครอบงำ” ซึ่งไม่เป็นผลดีเลย ต่อการพัฒนาชีวิตและสังคม ในยุคปัจจุบัน
วิธีคิดแบบหนังฝรั่ง คือ การมุ่งสู่ความทันสมัยในอนาคต
ข้อดี เป็นการจินตนาการเพื่อเป็นฐานในการสร้างความรู้ที่ทันสมัย
ข้อจำกัด มองแบบวิทยาศาสตร์ เน้นวัตถุนิยมด้านเดียว ขาดมิติด้านจิตใจ อีกทั้งยังเป็นการรุกรานธรรมชาติโดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืน การสร้างความทันสมัยตามฝรั่ง จึงควรบูรณาการความรู้ด้านจิตใจใส่เข้าไปด้วย เพราะมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์
ผมคิดได้เท่านี้แหละครับ ก็เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว ถูกผิดอย่างไรช่วยชี้แนะด้วยครับ