บทคัดย่อ
การวิจัยกึ่งทดลอง แบบกลุ่มเดียววัดผลก่อนและหลังการทดลองมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการสอนสุขภาพจิตศึกษาต่อความรู้และทัศนคติผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็น โรคจิตเภท มีประวัติพฤติกรรมก้าวร้าว และมารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกงานจิตเวชฉุกเฉินของโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ มีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 14 คน เข้าร่วมโปรแกรมการสอนสุขภาพจิตศึกษา ระยะเวลา 4 สัปดาห์ ประกอบด้วยกิจกรรม 4 ครั้ง ที่ประกอบด้วย การให้ความรู้แก่ผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว การดูแลผู้ป่วยและการเสริมสร้างทัศนคติที่ดีในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวโดยมีกิจกรรมทั้งหมด 4 กิจกรรมดังนี้ 1) เตรียมความรู้ผู้ดูแลอย่างไรเมื่อต้องกลับไปดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว 2) พฤติกรรมก้าวร้าวในผู้ป่วยจิตเภทและการจัดการ 3) ดูแลผู้ป่วยอย่างไรที่เรียกว่าการรักษา 4) ร่วมด้วยช่วยกันสอดส่องดูแลสานสัมพันธ์การดูแลรักษา โดยใช้กระบวนการกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของบุคคล ทำให้สมาชิกภายในกลุ่มมีการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันโดยโปรแกรมได้ ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 3 ท่าน และนำไปทดลองใช้กับผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลได้แก่ แบบประเมินระดับความรู้และทัศนคติในผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวก่อนและหลังเข้าร่วมโปรแกรมการสอนสุขภาพจิตศึกษา ผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องมือขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือพบว่าค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์อัลฟ่าครอนบาค เท่ากับ .81 และแบบวัดทัศนคติต่อผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว มีค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์อัลฟ่า ครอนบาค เท่ากับ .82 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ คำนวณค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ Wilcoxon Signed-Ranks Tes
ผลการวิจัย พบว่า คะแนนความรู้และทัศนคติของผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวหลังได้รับโปรแกรมการสอนสุขภาพจิตศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01
ผลการศึกษาในครั้งนี้ พบว่า โปรแกรมการสอนสุขภาพจิตศึกษา สามารถเพิ่มความรู้และทัศนคติผู้ดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวได้และใช้เป็นแนวทางในการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อไป