มวยทะเล
ความเป็นมา
มวยทะเลเป็นกีฬาพื้นเมืองภาคใต้สมัยเก่า เล่นแพร่หลายในแทบทุกจังหวัด เช่น พัทลุง สุราษฎร์ธานี และสงขลา เป็นต้น ไม่ปรากฏหลักฐานมาเริ่มเล่นตั้งแต่เมื่อใด แต่พบว่ามีการเล่นกันในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยจัดให้เป็นกีฬาที่มีการสอนแก่นักเรียนนายร้อยในสมัยนั้น (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า, ๒๕๑๐: ๓๙ – ๔๐) สันนิษฐานว่ามีการดัดแปลงมากจากการชดมวยไทยที่เป็นที่นิยมกันมานานแล้ว นำมาเล่นกันบริเวณชายหาดหรือในทะเล แล้วชกต่อยกันให้ฝ่ายใดตกทะเล จึงเรียกว่า “มวยทะเล” (สร้อย ภูมิไชยา, สัมภาษณ์ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๒๖) ทหารเรือนิยมจัดให้มีการแข่งขันกีฬามวยทะเล เนื่องจากได้ฝึกการต่อสู้และยังฝึกการว่ายน้ำเอาตัวรอดด้วย ชาวบ้านภาคใต้นิยมเล่นสนุกสนานในเทศกาลตรุษสงกรานต์หรืองานรื่นเริงต่างๆ เล่นกันเฉพาะในหมู่ผู้ชายทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ในปัจจุบันยังมีการเล่นกีฬาชนิดนี้อยู่ทั่วไป
โอกาสที่เล่น
เล่นในเทศกาลตรุษสงกรานต์หรืองานรื่นเริงต่างๆ
ผู้เล่น
เล่นกันในหมู่ผู้ชายทั้งผู้ใหญ่และเด็ก จำนวนผู้เล่นตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป
อุปกรณ์ที่เล่น
๑. นวม ๑ คู่
๒.ไม้หมากหรือเสากลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๖ -๗ นิ้ว ยาวประมาณ ๓ – ๔ เมตร ๑ ต้น สำหรับใช้เป็นเสาไม้พาด
๓. ไม้หมากหรือเสากลมขนาดเท่ากับไม้พาดแต่สั้นกว่า คือ ยาวประมา ๑ ๑/๒ – ๓ เมตร สำหรับเป็นขารองรับไม้พาด จำนวน ๔ ต้น
สถานที่เล่น
นิยมเล่นกันบริเวณหาดทรายชายน้ำ ชายทะเล หรือเล่นกันในน้ำ ในน้ำทะเลตื้นๆ โดยปักเสา ๒ ต้นไขว้กันเป็นขาสำหรับรองไม้พาด จำนวน ๒ ขา ให้ขาทั้งสองห่างกันประมาณ ๓ เมตร แล้วนำเสาไม้พาดหรือไม้หมากกลมวางพาดระหว่างเสาไขว้ที่เป็นขาทั้ง ๒ ข้าง ให้เสาไม้สูงจากพื้นดินประมาณ ๑๐๐ – ๒๐๐ เซนติเมตร แล้วใช้น้ำมันหมูหรือน้ำมันมะพร้าวทาเสาไม้พาดให้ลื่น ตรงกึ่งกลางเสาไม้พาดทำสัญลักษณ์ไว้ บางท้องถิ่นนิยมเล่นกันในลาดวัดโดยรองพื้นด้วยทรายนุ่มๆ เพื่อกันหล่นลงมาบาดเจ็บ