วิธีการร้อยมาลัยกลม มีหลักที่สำคัญดังนี้ 2
1. คัดเลือกดอกหรือกลีบดอกให้ขนาดเท่าๆ กัน
2. การส่งกลีบหรือก้านดอก จะต้องให้ยาวเท่าๆ กันทุกกลีบ หรือทุกดอกทั้งในแนวเดียวกันและระหว่างแถวด้วย เพื่อให้มาลัยที่ร้อยเสร็จแล้วนั้นมีสัดส่วนและรูปทรงที่สวยงาม ดังนั้นในการร้อยดอกไม้แต่ละดอกหรือแต่ละกลีบ ควรจะต้องวัดก้านก่อนแทงใส่เข็ม
3. ร้อยแถวแรกหรือชั้นแรกให้เป็นวงกลมจัดระยะห่างแต่ละกลีบให้เท่ากัน โดยเริ่มร้อยกลีบแรกเรียงจากซ้ายวนไปทางขวา ( ตามเข็มนาฬิกา) จนครบจำนวนกลีบตามต้องการ
4. ร้อยแถวที่ 2 โดยวางกลีบให้สับหว่างกับกลีบในแถวแรกทุกกลีบ จนครบจำนวนกลีบเท่ากับแถวที่ 1
และแถวต่อๆ ไปก็ทำเช่นเดียวกัน ข้อควรระวัง คือทุกๆ แถวจะต้องมีจำนวนกลีบเท่ากัน
และสับหว่างกันทุกแถวด้วย ถ้าแถวใดจำนวนกลีบลดน้อยลงหรือเพิ่มขึ้นแสดงว่าจะต้องร้อยสับหว่างผิด
5. มาลัยกลมแบบไม่มีลายร้อยเรียงวนโดยรอบเข็มควรจัดระยะห่างแต่ละกลีบให้เท่ากัน เมื่อร้อยครบจำนวนกลีบในแถวที่ 1 ตามต้องการแล้วก็เริ่มร้อยแถวที่ 2 โดยกลีบแรกของแถวที่ 2 นี้จะต้องอยู่ระหว่างกลีบสุดท้ายและกลีบที่ 1 ของแถวที่ 1 และกลีบต่อๆ ไปก็ร้อยให้สับหว่างเช่นกันทุกแถวและจำนวนกลีบของแต่ละแถวก็ต้องเท่ากันด้วย
6. มาลัยกลมแบบมีลาย ถ้าลายด้านเดียวจะขึ้นต้นจำนวนกี่กลีบก็ได้ แต่ถ้าเป็นมาลัยกลมแบบมีลายสองด้านจะต้องขึ้นจำนวนกลีบคู่เสมอ นิยมขึ้น 8 หรือ 10 กลีบ หรือมากกว่านั้น
( ถ้าเป็นมาลัยที่มีขนาดใหญ่) วิธีการร้อยก็เรียงวนโดยรอบเข็มเช่นกัน พอถึงลวดลายก็ร้อยกลีบที่มีสีต่างไปจากสีกลีบที่ร้อยเป็นพื้นอยู่เดิมแล้วนั่นเอง จะร้อยลายอะไรนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการหรือเห็นว่าสวยงามเหมาะสมเป็นสำคัญ