ประวัติประเพณีลอยโคม
แต่เดิมนั้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จะมีพิธีลอยกระทงเรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียงชักโคม ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์ กระทำเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ครั้นคนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนาก็ทำพิธี ยกโคม เพื่อบูชา พระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลอยโคมบูชาพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ประเทศอินเดีย สำหรับการลอยกระทงตามสายน้ำนี้เกิดขึ้นครั้งแรกตามหลักฐานที่บันทึกเอาไว้ว่านางนพมาศ ซึ่งเป็นสนมเอกของพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยได้คิดทำกระทงรูปดอกบัวและรูปต่างๆ ถวาย พระร่วง ทรงให้ลอยกระทงตามสายน้ำไหลใน หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระร่วงตรัสว่า “แต่นี่สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดวันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัวอุทิศสักการบูชา พระพุทธบาทนัมฆทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน” ครั้นถึง สมัยรัตนโกสินทร์ มีการทำกระทงขนาดใหญ่และสวยงามมีการประกวดเกิดขึ้น
โคมลอย มีความหมายเดียวกับ “โพยมยาน” คือยานที่ลอยไปในอากาศได้โดยใช้อากาศร้อนหรือแก๊สที่เบากว่าอากาศยกเอายานนั้นลอยไปได้ “โคมลอย” ในที่นี้ มาแต่หนังสือพิมพ์ตลกของอังกฤษที่ชื่อว่า ฟัน (Fun-ผู้เขียน) ที่ใช้รูปโคมลอยอยู่หลังใบปก หนังสือพิมพ์นั้นเล่นตลกเหลวไหลไม่ขบขันเหมือนหนังสือพิมพ์ตลก จึงเกิดคำติกัน เมื่อใครเห็นเล่นตลกไม่ขบขัน จึงว่าราวกับหนังสือพิมพ์ฟัน บ้างว่าเป็นโคมลอย บ้างจะพูดให้สั้นจึงคงไว้แต่ โคม โคมลอย ตามนัยของพระราชพิธี ๑๒ เดือน กับนัยของหนังสืออักขราภิธานศรัพท์ แม้จะดูเหมือนว่าไม่ตรงกัน แต่ก็พอจะอธิบายให้เห็นได้ว่าเป็นวัตถุทรงกลมที่อาศัยความร้อนที่กักไว้ภายในพยุงให้ลอยไปในอากาศได้