Ferruccio Lamborghini เกิดในตระกูลชาวนา เขาได้มีความสนใจในด้านเครื่องยนต์เป็นพิเศษ ดัดแปลงเครื่องจักรกลที่ใช้ในไร่นา จนพ่อเห็นถึงความพยายามของลูกชายจึงส่งไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์ อุตสาหกรรมจักรกล หลังจากที่เรียนจบไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เขารับใช้ชาติทำงานให้กับฐานทัพอากาศอิตาลี หลังสงครามสิ้นสุด เขาได้เดินทางกลับมายังบ้านเกิด และเริ่มต้นซ่อมแซมรถแทรกเตอร์ของอิตาลี ที่ใช้อะไหล่จากยวดยานของทหาร และนี่เองคือจุดเริ่มต้นในการตั้งโรงงานแทรกเตอร์ในชื่อว่า Lamborghini Trattori S.p.A. ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ กลายเป็นบริษัทผลิตรถแทร็กเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลี และยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องปรับอากาศอีกด้วย
Lamborghini เริ่มมีฐานะมั่งคั่งและยังคงไม่ลืมความฝันในวัยเด็กของเขา จึงเริ่มซื้อ Alfa Romeo, Maserati, Jaguar, Aston Martin, Corvette และ Ferrari รถยนต์เหล่านี้กำเนิดขึ้นในยุค 1950-1960 มีเครื่องยนต์ที่ให้แรงม้ามากกว่ารถทั่วไปและควบคุมได้ยาก เขามักจะควบ Ferrari 250GT วนเล่นรอบโรงงานของเขา และรู้สึกว่าเจ้าม้าลำพองนี้ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งหมดทั้งในเรื่องการควบคุมและส่วนของการให้บริการ จึงขับพุ่งตรงเพื่อไปพบกับ Enzo Ferrari ด้วยตัวเอง และเปิดใจในเรื่องที่เขารู้สึกย่ำแย่ที่มีต่อรถ Ferrari แต่ได้ถูก Enzo Ferrari ตอกกลับว่า Lamborghini เป็นเพียงแค่คนบ้านนอกที่ไม่มีความรู้อะไรเลยในเรื่องที่เกี่ยวกับรถสปอร์ต ต่างกับเขาที่มีอยู่เต็มในสายเลือด
ด้วยแรงฮึด Lamborghini จึงอยากสร้างรถของตัวเองให้ดีกว่ารถ Ferrari ภายใต้ชื่อ Automobili Lamborghini ถือกำเนิดขึ้นในช่วงปี 1962 ซึ่งโรงงานห่างจาก Ferrari เพียงแค่ 15 กม. เท่านั้น ต่อจากนั้นค่ายรถยนต์เจ้าของสัญลักษณ์กระทิงเปลี่ยวก็ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ของวงการรถสปอร์ตในยุโรป ให้ได้ตื่นตะลึงกับรูปแบบของตัวรถ Lamborghini และเทคโนโลยีของเครื่องยนต์ การวางตำแหน่งเครื่อง และการบังคับควบคุมที่วิศวกรและนักขับทดสอบของบริษัทร่วมกันคิดค้นและพัตนา จนเสร็จสมบูรณ์เป็น Lamborghini 350 GTV
เขาได้ขายกิจการรถแทร็กเตอร์และรถไถนาของ ลัมโบร์กีนี ให้กับบริษัท "เซม" ( Same ) ผู้ผลิตเครื่องจักรกลทางการเกษตร จากนั้นไม่นานบริษัทได้ประสบกับปัญหาทางการเงินจนถึงขั้นล้มละลายลงในปี 1977 และถูกซื้อโดยพี่น้องตระกูล มิมรัน( Mimran ) แต่เมื่อมารับช่วงต่อ กิจการก็ยังคงติดขัด จึงถูกขายต่อให้กับบริษัท ไครสเลอร์ แต่ก็ยังเกิดปัญหา จึงถูกขายต่ออีกทอดไปยังกลุ่มทุนจากอินโดนีเซีย และท้ายที่สุดบริษัท ออดี้ เอจี ก็ได้ทำให้ ลัมโบร์กีนี กลับมามั่นคงอีกครั้งจากการดูแลพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์จากวิศวกรและทีมงานจากเยอรมัน ที่มีความมุ่งมั่นบวกกับเงินทุนมหาศาลทำให้หวนสู่วงการซูเปอร์คาร์อีกครั้งในนามของ กัลลาร์โด และ มูร์เซียลาโก ซึ่งเป็นการผสานนวัตกรรมของ ลัมโบร์กีนี และ ออดี้ เข้าด้วยกัน ทำให้ขายได้มากกว่า 9,000 คันในเวลานั้น