บทคัดย่อ
ศึกษาวิธีการไถพรวนดินและชนิดของพืชปุ๋ยสดที่ไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบนชุดดินสตึกที่มีชั้นดานไถพรวนต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของสับปะรด ในศูนย์วิจัยและพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 1 ฤดูปลูก วางแผนการทดลองแบบ Split plot in RCB จำนวน 4 ซ้ำ ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การไถปกติ ร่วมกับไถพรวน 1 ครั้งก่อนปลูกพืชปุ๋ยสด และไถพรวนอีก 1 ครั้งก่อนปลูกสับปะรด การไถเบิกดานร่วมกับไถพรวน 2 ครั้งก่อนปลูกพืชปุ๋ยสด และไม่ต้องไถพรวนก่อนปลูกสับปะรด การไถเบิกดานร่วมกับไถพรวน 1 ครั้งก่อนปลูกพืชปุ๋ยสด และไม่ต้องไถพรวนก่อนปลูกสับปะรด สุดท้ายการไถปกติร่วมกับไถพรวน 1 ครั้งก่อนปลูกพืชปุ๋ยสด และไม่ต้องไถพรวนก่อนปลูกสับปะรด ส่วนปัจจัยรอง การปลูกพืชปุ๋ยสด 3 ชนิด ได้แก่ ปลูกถั่วพร้า ปลูกถั่วมะแฮะ และปลูกปอเทือง พบว่า กรรมวิธีการไถพรวนและชนิดของพืชปุ๋ยสด ทำให้ปริมาณอินทรียวัตถุในดินเพิ่มสูงขึ้น ความหนาแน่นรวมของดินลดลง มีการระบายน้ำ ถ่ายเทอากาศได้ดีขึ้น ซึ่งการไถเบิกดาน แล้วไถกลบปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสด และไม่ต้องไถพรวนก่อนปลูกสับปะรด มีผลผลิตสูงกว่าการไถปกติ แล้วไถกลบปอเทือง แล้วมีการไถพรวนเพิ่มขึ้นอีก 1 ครั้งก่อนปลูกสับปะรดประมาณ 0.95 ตันต่อไร่ แต่ไม่แตกต่างทางสถิตเช่นเดียวกับ การไถเบิกดาน และลดการไถพรวนลงก่อนการปลูกพืชปุ๋ยสดก็สามารถทำให้ผลผลิตที่ได้สูงกว่าประมาณ 0.03 ตันต่อไร่
คำหลัก : การไถพรวน พืชปุ๋ยสด สับปะรด
คำนำ
สับปะรดเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สามารถปลูกได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศ การปลูกสับปะรดของเกษตรกร ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก จะเป็นการปลูกเพื่อส่งโรงงานผลไม้กระป๋อง แต่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น เป็นการปลูกเพื่อรับประทานผลสด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะของดินเป็นดินร่วนทรายถึงดินทราย ดินส่วนใหญ่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติค่อนข้างต่ำ (กรมพัฒนาที่ดิน, 2550) ดินที่ทำการเกษตรติดต่อนานๆ โดยใช้รถไถและเครื่องทุ่นแรงขนาดใหญ่ มักทำให้ดินแน่นทึบเกิดชั้นดินดานต่ำกว่าชั้นไถพรวน (hard pan) ซึ่งดินดานนี้เรียกว่า plow pan ดินแห้งจะแข็ง รากพืชไม่สามารถแทงผ่านไปได้ (กอบเกียรติ, 2551) และความชื้นจากดินชั้นล่างไม่สามารถเคลื่อนที่ขึ้นสู่ดินชั้นบนได้ ทำให้ความเป็นประโยชน์ของน้ำในดินรวมทั้งธาตุอาหารพืชในดินลดลง สมภพ และ คณะ (2547) พบว่า ระบบไม่ไถพรวน และการไถพรวนน้อยครั้งทำให้สมบัติทางกายภาพของดินดีขึ้น โดยทำให้ดินมีปริมาณความชื้นสูง มีอัตราการไหลซึมผ่านของน้ำและความพรุนของดินสูงขึ้น ความหนาแน่นรวมของดินลดลงโดยเฉพาะเมื่อดินมีความลึกมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกแบบไถพรวน มุกดา (2548) กล่าวว่า การปลูกพืชปุ๋ยสดนั้น เมื่อเจริญเติบโตถึงระยะที่พืชเริ่มออกดอก ถึงระยะดอกบานและสุกแก่ จะไถกลบลงดิน อินทรียวัตถุจากการย่อยสลาย จะแทรกอยู่ระหว่างเม็ดดิน ทำให้ดินร่วนซุยและอุ้มน้ำได้ดี จึงเป็นการช่วยปรับโครงสร้างดิน ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้มีการระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศในดินได้ดีขึ้น ปัจจุบันเกษตรปลูกสับปะรด โดยไม่มีการให้น้ำ และไถพรวนซ้ำซากติดต่อนานๆ ซึ่งการใช้รถไถและเครื่องทุ่นแรงขนาดใหญ่ ทำให้คุณสมบัติทางกายภาพเสื่อมโทรม ผลผลิตและคุณภาพ จึงต่ำว่ามาตรฐาน มีต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีที่สูง แต่ผลตอบแทนกลับลดต่ำลงเรื่อยๆ ดังนั้น จึงได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบวิธีไถพรวนดิน และการเลือกชนิดของพืชปุ๋ยสดที่เหมาะสมกับพื้นที่