การปนเปื้อนสารหนูในแหล่งน้ำ เป็นข่าวที่พบเห็นได้อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ การปนเปื้อนนั้นเกิดได้ทั้งจากธรรมชาติ และจากการกระทำของมนุษย์เอง เมื่อมนุษย์ได้รับสารหนูปริมาณมากจะก่อให้เกิดอาการเฉียบพลัน เช่น ท้องเสีย อาเจียน มึนเมา ตาพร่ามัว เป็นต้น แต่หากได้รับปริมาณน้อยและมีระยะเวลานานจะก่อให้เกิดอาการพิษเรื้อรัง เช่นเกิดอาการที่ผิวหนัง เกิดโรคมะเร็ง และเสียชีวิต ทั้งนี้ การศึกษาค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับการปนเปื้อนสารหนู ได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งในประเด็นของการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพอนามัย การแก้ไขปัญหาการปนเปื้อน และการพัฒนาวิธีการตรวจวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม การกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขอย่างจริงจังควรได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2551 มีรายงานข่าวพบการปนเปื้อนสารหนูในแหล่งน้ำที่ประเทศจีนตอนใต้จนทำให้ประชาชนเกิดอาการหน้าบวม อาเจียน และตาพร่าเป็นจำนวนหลายร้อยคน สาเหตุเกิดจากการจัดการบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานถลุงเหล็กไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อเกิดพายุฝนขนาดหนัก ทำให้น้ำเสียเกิดการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชน (1) ส่วนในประเทศบังคลาเทศพบว่าในน้ำใต้ดินที่ถูกนำมาใช้บริโภคมีการปนเปื้อนสารหนูเกินมาตรฐาน เกิดจากทรัพยากรแร่ที่มีสารหนูปะปนในปริมาณมาก ถูกชะล้างและปนเปื้อนลงในน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ประเทศกัมพูชา เวียดนาม ทิเบต อาร์เจนตินา ชิลี เม็กซิโก และทางตอนเหนือของสหรัฐอเมริกาก็พบการปนเปื้อนสารหนูในน้ำใต้ดินสูงเช่นกัน (2),(3)
ประเทศไทยเองก็พบการปนเปื้อนสารหนูในน้ำ โดยในปี พ.ศ. 2534 มีการปนเปื้อนสารหนูที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเกิดจากการทำเหมืองแร่ดีบุกซึ่งมีสารหนูปนเปื้อนมากับสายแร่ ในกระบวนการแยกแร่ธาตุ สารหนูจะถูกแยกไปกับหางแร่และถูกทิ้งไว้โดยไม่มีการจัดการที่เหมาะสม จึงทำให้สารหนูปนเปื้อนไปยังแหล่งน้ำของชุมชนใกล้เคียง (2) และเมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี พบการปนเปื้อนสารหนูในน้ำผิวดินสูงเกินมาตรฐานมาก โดยได้มีการตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่อยู่ในพื้นที่พบว่า มีบางรายพบการปนเปื้อนสารหนูในปัสสาวะ สาเหตุอาจเกิดจากการปนเปื้อนโดยธรรมชาติและการจัดการเหมืองแร่เก่าที่ไม่เหมาะสมก็เป็นได้ (4)
สารหนู เป็นสารที่พบได้ในธรรมชาติ โดยเป็นองค์ประกอบของดิน หิน และแร่ต่างๆ พบมากในสายแร่ทองแดง แมงกานีส ตะกั่ว ดีบุก เงินและทองคำ (2) ในบริเวณแหล่งน้ำใต้ดินใกล้สายแร่ดังกล่าวจึงมีการปนเปื้อนสารหนูสูง ซึ่งถือว่าเป็นการปนเปื้อนโดยธรรมชาติ ส่วนการปนเปื้อนโดยการกระทำของมนุษย์ คือการจัดการเหมืองแร่ไม่เหมาะสม เช่นในกรณีเหมืองแร่ดีบุกที่อำเภอร่อนพิบูลย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สารหนูก็มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น เป็นส่วนประกอบของสารกำจัดแมลง สารกำจัดวัชพืช สารรักษาเนื้อไม้ ผสมกับตะกั่วในแบตเตอรี่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ผสมกับธาตุอื่นหลายชนิดสำหรับเคลือบสีในนาฬิกาดิจิตอล หรือใช้ผสมโลหะเพื่อทำ Light Emitting Diode (LED) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเลคโทรนิคชนิดหนึ่ง (2),(5)
มนุษย์มีโอกาสได้รับสารหนูทั้งการสัมผัสที่ผิวหนัง การหายใจเอาละอองฝุ่นที่มีสารหนูหรือไอระเหยของสารหนู และการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อน โดยปกติร่างกายมนุษย์จะขจัดสารหนูที่ได้รับในปริมาณน้อยออกทางปัสสาวะภายในระยะเวลา 2 วัน แต่ถ้าหากได้รับสารหนูในปริมาณเพียง 130 มิลลิกรัม จะทำให้ลำไส้และตับถูกทำลาย อาเจียนมีสีเขียวและเหลือง ท้องเสียอย่างรุนแรง มึนเมา เพ้อ และถึงแก่ชีวิต หากได้รับปริมาณน้อยและมีระยะเวลานานเป็นเวลาหลายปี จะทำให้เกิดโรคพิษสารหนูเรื้อรังหรืออาร์ซินิโคซิส (Arsenicosis) อาการจะเริ่มตั้งแต่ผิวหนังเกิดการระคายเคืองจนมีความด้านและหนา สีผิวเปลี่ยนเป็นสีดำเข้ม ฝ่ามือและฝ่าเท้าเป็นจุดสีดำใหญ่ จนกระทั่งกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ รวมทั้งมีผลต่อระบบหลอดเลือดหัวใจและระบบประสาทจนเสียชีวิตในที่สุด (2)
องค์การอนามัยโลกกำหนดให้คุณภาพน้ำสำหรับการบริโภคไม่ควรมีสารหนูปนเปื้อนเกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือ 10 พีพีบี (6),(7) ในขณะที่ประเทศไทยโดยกรมควบคุมมลพิษ กำหนดให้คุณภาพน้ำผิวดินที่จะนำมาบริโภคที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคและบำบัดเบื้องต้นแล้ว ต้องมีการปนเปื้อนสารหนูไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตรเช่นกัน (8) แต่มาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค คุณภาพน้ำดื่มในภาชนะบรรจุปิดสนิท และมาตรฐานอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์น้ำ อนุโลมให้มีสารหนูปนเปื้อนได้ถึง 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร (9),(10) นอกจากนี้ สารหนูไม่ได้เป็นสารหลักที่จำเป็นจะต้องมีการตรวจวิเคราะห์ และวิธีในการตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐานต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Atomic Absorption (8) ซึ่งมีราคาแพงมาก ใช้เวลานาน และมีเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย หรือการใช้ชุดตรวจวัดสารหนูภาคสนามก็มีราคาสูงและหาซื้อได้ยาก ทำให้การเฝ้าระวังการปนเปื้อนในน้ำดื่มเป็นไปด้วยความยากลำบาก
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้หน่วยงานในประเทศไทยให้ความสนใจกันมากขึ้น โดยมีงานวิจัยที่สำคัญเช่น การศึกษาผลการได้รับสารหนูในหญิงตั้งครรภ์ต่อการแสดงออกของยีนส์ต่างๆของทารก ที่อาจมีผลต่อการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็งในภายหลัง ของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (11) การพัฒนาชุดตรวจวิเคราะห์สารหนูชนิดพกพา ของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้มีความรวดเร็วในการวิเคราะห์และประหยัดค่าใช้จ่าย (12) นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเรื่องการกำจัดสารหนูในน้ำด้วยการเพิ่มออกซิเจนลงในน้ำ (13) หรือการตกตะกอนสารหนูด้วยการเติมคลอรีนและสารประกอบเหล็กคลอไรด์ (FeCl3) (14) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันอันตรายจากสารหนูในน้ำดื่มได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการในการควบคุมพื้นที่ที่มีการปนเปื้อน และมาตรการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่อาจมีการปนเปื้อนสารหนู ยังคงต้องศึกษาวิจัย และพัฒนาให้ทันสมัยและเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ