เมื่อบวมจากมีการคั่งของน้ำ ถ้าเรากดลงบนผิวส่วนที่บวม ผิวส่วนนั้นจะยุบบุ๋มลงช่วงระยะ เวลาหนึ่งแล้วจะกลับมาบวมตามเดิม เรียกการบวมลักษณะนี้ว่า Pitting edema แต่ถ้าการบวมเกิดจากการคั่งของน้ำเหลือง จะกดไม่บุ๋ม เรียกการบวมลักษณะนี้ว่า Non pitting edema
การบวมน้ำ อาจบวมเพียงตำแหน่งเดียว ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ เช่น ตรงส่วนที่แมลงกัด/ต่อย หรือ บวมทั้งตัว เช่น ในโรคหัวใจล้มเหลว
การบวมน้ำ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
มีการเพิ่มสารอุ้มน้ำในหลอดเลือด (เช่น การมีเกลือโซเดียมสูงในเลือด) มีการลดลงของสารอุ้มน้ำในหลอดเลือด (เช่น ภาวะร่างกายขาดโปรตีน) มีการอุดตันของหลอดเลือด หรือ หลอดน้ำเหลือง (เช่น ภาวะมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ หรือภาวะเกิดพังผืดในเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน) มีหลอดเลือดอักเสบ (เช่น ในการอักเสบติดเชื้อ) และภาวะที่ร่างกายมีการสร้างน้ำมากกว่าปกติ (เช่น การบวมน้ำในช่องท้องหรือท้องมาน ในโรคมะเร็ง เป็นต้น)
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุการบวมน้ำได้จาก ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน การตรวจร่างกาย อาจร่วมกับการตรวจภาพอวัยวะที่มีอาการด้วยเอกซเรย์ อัล ตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอมอาร์ไอ และ/หรือ การตรวจเลือดดูค่าสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง
การรักษาการบวมน้ำ คือ การรักษาสาเหตุ และอาจร่วมกับการให้ยาขับน้ำ หรือ/และ การเจาะ/การใส่ท่อเพื่อระบายน้ำ ทั้งนี้ขึ้นกับอวัยวะที่เกิดการบวมน้ำ อาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์