งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการกำจัดไอออนโลหะหนัก ได้แก่ นิกเกิล สังกะสี ตะกั่ว และแคดเมียม ในน้ำเสียสังเคราะห์แบบผสมและน้ำเสียอุตสาหกรรม โดยใช้เปลือกเมล็ดทานตะวันปรับสภาพด้วยโพแทสเซียมคาร์บอเนตความเข้มข้น 0.8 โมลาร์ เผาที่อุณหภูมิ 400 องศาเซลเซียส ขนาด 500-710 ไมโครเมตร เป็นวัสดุดูดซับดูดซับสารละลายน้ำเสียค่าพีเอชเท่ากับ 5 ความเข้มข้นเริ่มต้นเท่ากับ 100 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยการทดลองจะใช้การทดลองแบบกะ และแบบแพคเบด โดยนำค่าการดูดซับไอออนโลหะหนักมาเปรียบเทียบกับน้ำเสียสังเคราะห์แบบแยกเดี่ยวที่ได้ร้อยละการดูดซับของนิกเกิล สังกะสี ตะกั่ว และแคดเมียม คือ 96.50 97.03 96.98 และ 97.54 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับการทดลองการดูดซับไอออนโลหะหนักแบบกะของน้ำเสียสังเคราะห์แบบผสมที่ได้ร้อยละการดูดซับของนิกเกิล สังกะสี ตะกั่ว และแคดเมียมใกล้เคียงกันคือ 87.16 94.30 98.02 และ 97.01 ตามลำดับ พบว่าในการดูดซับน้ำเสียสังเคราะห์แบบผสมจะมีค่ามากกว่าน้ำเสียสังเคราะห์แบบแยกเดี่ยว ส่วนในน้ำเสียอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ร้อยละการดูดซับของนิกเกิลและสังกะสี คือ 75.25 และ87.50 และในน้ำเสียอุสาหกรรมโรงกลึงได้ร้อยละการดูดซับของ สังกะสีและตะกั่ว คือ 78.18 และ88.34 จะได้ว่าในการดูดซับน้ำเสียจากอุตสาหกรรมจะได้ร้อยละการดูดซับต่ำกว่าน้ำเสียสังเคราะห์ ในการทดลองในเครื่องปฏิกรณ์แบบแพคเบดความสูงของชั้นเบดเท่ากับ 5 เซนติเมตร ที่อัตราการไหล 6 8 และ 12 มิลลิลิตรต่อนาที ในน้ำเสียสังเคราะห์แบบผสมและน้ำเสียอุตสาหกรรม โดยพบว่าที่อัตราการไหลมากขึ้นจะใช้ ระยะเวลาในการเข้าสู่จุดเบรคทรูเร็วขึ้น ซึ่งพบว่าโลหะหนักตะกั่วที่อัตราการไหลต่างๆ ใช้ เวลาในการดูดซับนานที่สุด รองลงมาคือ แคดเมียม สังกะสี และนิกเกิล ตามลำดับ จากการนำจลนพลศาสตร์ของการดูดซับ (Kinetic model) มาทำนายผลการทดลอง ว่าจลนศาสตร์ของการดูดซับสอดคล้องกับสมการ Pseudo-second order มากกว่า Pseudo-first order