วัดกู่เต้า เดิมชื่อวัดเวฬุวนาราม ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีภูมิ ในทำเลที่เงียบสงบของเชียงใหม่ … วันที่ฉันไปถ่ายรูปไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก เข้าใจว่าคงเป็นเพราะวัดนี้ไม่ใช่วัดดัง หรืออยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติมากนัก แต่ก็เป็นบรรยากาศที่ฉันชื่นชอบ ด้วยยังคงเห็นวิถีพื้นบ้านใกล้ตัวของชาวเมืองที่น่าดำรงไว้ ดังเช่น ผู้คนขี่สามล้อมาที่วัด อันเป็นวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่างและเปี่ยมเสน่ห์ที่สร้างความสนใจให้กับฉันเสมอ
วัดนี้มีเจดีย์ที่ลักษณะแปลกกว่าเจดีย์อื่นๆในล้านนา … วัดนี้ไม่ปรากฏว่าเริ่มสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยใด แต่มีตำนานเล่าขานกันมาและเชื่อว่า เจดีย์วัดกู่เต้าสร้างในสมัยที่พม่าครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งรวมไปถึงอาณาจักรล้านนาทั้งหมด และเจดีย์ที่เห็นเป็นรูปทรงกลมนี้ก็เป็นที่บรรจุอัฐิของราชวงค์พม่า ชื่อพระเจ้าเม็งชานรธามังดุย ซึ่งเคยยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาตามบัญชาของพระมหาอุปราชานันทบุเรง พระเชษฐาต่างมารดาและเป็นกษัตริย์พม่าในสมัยนั้น แต่ถูกพระนเรศวรตีแตกพ่าย และยอมสวามิภักดิ์ในเวลาต่อมา ทำให้ตัดขาดจากพระเจ้านันทบุเรงและไม่อาจกลับคืนปิตุภูมิได้ จนสิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2156
พระมหามังชวยเทา ซึ่งเป็นพระอนุชาได้จัดถวายเพลิงพระศพ และโปรดให้สร้างสถูปเจดีย์กู่เต้าเพื่อบรรจุอัฐิและพระอังคารธาตุ และโปรดให้สร้างวัดขึ้นมาในบริเวณดงก่อใผ่ จึงได้ชื่อว่าวัดเวฬุวันกู่เต้า ซึ่งชาวบ้านจะเรียกสั้นๆว่า วัดกู่เต้า ปัจจุบันมีชื่อเป็นทางการว่า วัดเวฬุวันวนาราม