ลักษณะภูมิประเทศ :
หมู่เกาะอินโดนีเซีย สามารถแบ่งตามลักษณะโครงสร้างได้สามส่วนคือ
– ส่วนที่ 1 พื้นที่บริเวณไหล่ทวีปซุนดา ได้แก่บริเวณเกาะชวา เกาะสุมาตรา และเกาะกาลิมันตัน กับร่องน้ำระหว่างเกาะต่าง ๆ เหล่านี้กับฝั่งทะเลของประเทศมาเลเซีย และอินโดจีน มีระดับน้ำลึกไม่เกิน 720 ฟุต
– ส่วนที่ 2 พื้นที่บริเวณไหล่ทวีปซาฮูลคือเกาะอีเรียนจายา และเกาะอารู มีอาณาเขตจากฝั่งทะเลออสเตรเลียทางเหนือ ระดับน้ำลึกไม่เกิน 700 ฟุต
– ส่วนที่ 3 บริเวณพื้นที่ระหว่างบริเวณไหล่ทวีปซุนดา และไหล่ทวีปซาฮูล ได้แก่ บริเวณหมู่เกาะนูซาแตงการา มาลูกู สุลาเวสี มีความลึกของระดับน้ำถึง 15,000 ฟุต
ภูเขา ภูเขาที่สำคัญ ๆ มีอยู่ประมาณ 100 ลูก จากจำนวนประมาณ 400 ลูก ภูเขาที่สูงที่สุดตามเกาะต่าง ๆ มีดังนี้
– ภูเขาเกรินยี อยู่บนเเกาะสุมาตรา สูง 12,460 ฟุต
– ภูเขาเซมารู อยู่บนเกาะชวา สูง 12,040 ฟุต
– ภูเขาแรนโตคอมโบรา อยู่บนเกาะสุลาเวสี สูง 11,300 ฟุต
– ภูเขาปุมจักชวา อยู่บนเกาะอิเรียนจายา สูง 16,000 ฟุต
ที่ราบ โดยทั่วไปมีพื้นที่ราบน้อย ส่วนใหญ่เป็นที่ราบบริเวณเชิงเขา และบริเวณชายฝั่งทะเล ชายฝั่งทะเลมักเป็นที่ราบต่ำ บริเวณทางทิศตะวันออกของเกาะสุมาตรา และทางตอนเหนือของเกาะชวา จะมีลักษณะเป็นที่ราบกว้างใหญ่คลุมไปถึงบริเวณริมฝั่งทะเล และนอกจากนี้ก็มีบริเวณชายฝั่งของเกาะกาลิมันตัน และเกาะอีเรียนจายา
แม่น้ำและทะเลสาบ เนื่องจากหมู่เกาะอินโดนีเซีย อยู่ในเขตมรสุมจึงมีฝนตกชุกตลอดปี และพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงทำให้เกิดแม่น้ำ และทะเลสาบอยู่บนเกาะต่าง ๆ มากมาย แม่น้ำและทะเลสาบที่สำคัญได้แก่
– บนเกาะสุมาตรา มีแม่น้ำมุสิ แม่น้ำบาตังฮาริ และแม่น้ำกำปา
– บนเกาะกาลิมันตัน มีแม่น้ำดาพัวส์ แม่น้ำมาริโต แม่น้ำมหกรรม และแม่น้ำงาจัง
– บนเกาะอิเรียนจายา มีแม่น้ำเมมเปอราโม และแม่น้ำติกัล
– บนเกาะชวา มีแม่น้ำเบนกาวันโซโล แม่น้ำซิตาวัม และแม่น้ำบราตัส
– ทะเลสาบที่สำคัญ ๆ ส่วนมากจะอยู่บริเวณกลางเกาะคือ
– บนเกาะสุมาตรา มีทะเลสาบปโตมา ทะเลสาบมาบินิจอ และทะเลสาบซิงการัก
– บนเกาะสุลาเวสี มีทะเลสาบเทมบิ ทะเลสาบโทวูติ ทะเลสาบสิเดนเรว ทะเลสาบปูโซ ทะเลสาบลิมลิมโบโต และทะเลสาบตันตาโน
– บนเกาะอิเรียนจายา มีทะเลสาบพิเนีย และทะเลสาบเซนตานี
สมุทรศาสตร์ ประเทศอินโดนีเซีย ประกอบด้วยหมู่เกาะต่าง ๆ มีมหาสมุทรล้อมรอบทั้งสามด้าน ระดับความลึกของน้ำทะเลจึงแตกต่างกันไป บริเวณที่น้ำตื้นส่วนใหญ่จะมีหินโสโครก และหินปะการัง เนื่องจากลาวาของภูเขาไฟ เกาะใหญ่น้อยของอินโดนีเซียมีลักษณะแยกกัน จึงก่อให้เกิดเส้นทางผ่านทะเลเป็นจำนวนมาก