พระมหาเจดีย์ชเวดากอง (SHWEDAGON PAGODA) หรือ เจดีย์ทองแห่งเมืองดากอง หรือ ตะเกิง (ชื่อเดิมของเมืองย่างกุ้ง) ไม่เคยเลือนหายจากจิตใจชาวมอญ
และพม่าแห่งลุ่มน้ำอิระวดี เป็นเวลานับพันปีมาแล้ว แต่โบราณนานมา ชาวมอญเรียกมหาเจดีย์แห่งนี้ว่า “ธาตุศก” คนไทยเรียก “ พระเกศธาตุ” เนื่องจากภายในพระมหาเจดีย์บรรจุพระเกศาแห่งองค์พระศาสดามหาเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดของพม่า ซึ่งมีความสูงถึง 326 ฟุตแห่งนี้ เมื่อแรกสร้างนั้นมีความสูงเพียง 27 ฟุตเท่านั้น
ขนาดและความสูงขององค์เจดีย์ที่เพิ่มขึ้นกว่าสิบเท่า จึงสะท้อนแรงศรัทธา อันสืบเนื่องยาว นานของกษัตริย์และประชาชนชาวมอญและพม่าได้เป็นอย่างดี
ตามประวัตินั้น ไม่มีหลักฐานระบุว่ารูปร่างของเจดีย์ชเวดากองเมื่อแรกสร้างเป็นอย่างไร แต่เมื่อมีการ บูรณะและก่อเสริมในระยะหลัง มีหลักฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากมหาเจดีย์ชเวสิกอง เมืองพุกาม ซึ่งนับเป็นพุทธ ศิลป์สกุลช่างพุกามยุคต้น ชเวดากองจึงมีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลม มียอดฉัตรเป็นกลีบบัวถลา
ก่อเป็นรูปกรวย แหลมกลมสูงไปจนถึงยอด ซึ่งเมื่อสืบค้นลึกลงไปก็พบว่าศิลปะการก่อสร้างเจดีย์เช่นนี้ พุกามก็รับเอามาจากมอญ อีกทอดหนึ่งนั่นเอง
สำหรับคนไทย แสงสีทองที่ส่องสะท้อนจากองค์พระมหาเจดีย์ชเวดากอง คือความขัดข้องใจ อันเนื่องมาจากเรื่องเล่าที่ฝังใจมานานว่า พม่าลอกทองจากวัดวาอารามในกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งกรุงแตกครั้งที่ 2 ในปี 2310 มาประดับองค์เจดีย์ชเวดากอง ทว่าก็ยังไม่มีใครสามารถค้นหา หลักฐานมายืนยันได้อย่างแน่ชัด
ด้วยกาล เวลาที่ล่วงเลยมานานกว่า 200 ปี มหาเจดีย์ก็ผ่าน การบูรณะ ปฏิสังขรณ์มานับครั้งไม่ถ้วน แต่สิ่งที่ปรากฏในหลักฐานเอกสารคือ นับตั้งแต่เจดีย์ชเวดากอง หรือ พระเกศธาตุ เริ่มสร้างขึ้นเมื่อกว่า 1,200 ปีก่อนนั้น พระมหากษัตริย์มอญ และ พม่าในสมัยต่อ ๆ มา แทบทุกพระองค์ ได้ถือเป็นพระราชภารกิจ ในการก่อเสริมองค์พระเจดีย์ให้สูงใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ดังที่สมเด็จกรม พระยาดำรง ราชานุภาพ เล่าไว้ว่า จากแรก เริ่มที่สูงเพียง 27 ฟุต จนสูงถึง 326 ฟุต กว้าง 1,355 ฟุต ในปัจจุบัน
และยังมีตำนานเล่ากันว่า ในสมัยพระนางชิน สอว์บู หรือ นางพระยาตะละแม่ท้าวเจ้ากษัตรีชาวมอญ ผู้ครอบครองเมืองหงสาวดี ได้ทรงบริจาคทองคำเท่าน้ำหนัก พระองค์เองในการบูรณะพระมหาเจดีย์ จนกลายเป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงต้องปฏิบัติสืบ ต่อกันมา
นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานการบูรณะชเวดากองครั้งใหญ่อีกครั้ง ในสมัยพระเจ้ามังระ หรือ อลองพญามหาราช ผู้กรีฑาทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง เมื่อ ปี 2310 อันอาจเป็นเหต ุให้เกิดข้อสันนิษฐานที่ยากจะพิสูจน์ได้แน่ชัดว่า พม่าลอกทองจากกรุงศรีอยุธยา มาบูรณะชเวดากอง อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน มหาเจดีย์ ชเวดากองมีทองคำโอบหุ้ม อยู่เป็นน้ำหนักถึง 1,100 กิโลกรัม โดยช่างชาวพม่าจะใช้ทองคำแท้ตีเป็นแผ่น เรียงปิดองค์เจดีย์ไว้
รอบองค์ (สังเกตจาก รอยต่อของแผ่นทองคำ ซึ่งมิได้ผสานเป็นเนื้อเดียว แต่จะเป็นแผ่น ๆ มาเรียงต่อกัน) ครั้นเมื่อแผ่นทองหมองคล้ำก็จะแกะถอดออกมาขัดล้างปีละครั้ง เป็นประเพณีสืบเนื่องกันตลอด จนทำให้ชเวดากองเป็นมหาเจดีย์ทองคำที่สุกปลั่งวาวงามอยู่เป็นนิรันดร์
ฉัตรทององค์ใหญ่บนยอดเจดีย์ชเวดากอง เคยหักตกลงมาหลายครั้งเพราะเกิดแผ่นดินไหว ครั้งที่มีการบูรณะ ฉัตรครั้งสำคัญ คือในสมัยพระเจ้ามินดงปกครองเขตพม่าเหนือใน ขณะที่ย่างกุ้งและพม่าใต้ตกเป็นของอังกฤษแล้ว (ตรงกับปลายรัชกาลที่ 4ต่อต้นรัชกาลที่ 5 ของไทย) พระเจ้ามินดงจึงทรงพยายามรวมจิตใจชาวพม่าเป็นหนึ่งเดียว กันด้วยการเรี่ยไรกันปฏิสังขร์ชเวดากอง โดยทรงบริจาคพระราชทรัพย์เพื่อสร้างฉัตรขึ้นใหม่ จนล่ำลื่อกันว่ายอดฉัตร แห่งชเวดากองนั้น ประดับด้วย
เพชรพลอยอัญมณีล้ำค่า คิดเป็นราคาถึงกว่า 62,000 ปอนด์ ในสมัยนั้น โดยเฉพาะที่ยอดเจดีย์ ประดับเพชรเม็ดใหญ่ที่มีน้ำหนักถึง 76.6 กะรัต และที่ขอบฉัตร ประดับระฆังใบเล็กไว้ถึง 50,000ใบทีเดียว ทว่าพระองค์ก็ทรงถูกอังกฤษดูแคลน ด้วยการไม่อนุญาตให้พระองค์จัดขบวนแห่แหนฉัตรทอง จากราชธานีของพระองค์ที่กรุงมัณฑะเลย์มายังกรุงย่างกุ้ง ดังกล่าวมาแล้ว รอบ ๆ องค์พระเจดีย์ชเวดากอง เป็นลานกว้างที่รองรับแรงศรัทธาของ พุทธศาสนิกชนได้จำนวนมากบริเวณทางขึ้นทั้งสี่ทิศ จะมีวิหารโถงสร้างด้วยเครื่องไม้หลังคาทรงปราสาท ปิดทองล่องชาดประดับกระจกทั้งหลัง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปเป็นประธาน สำหรับให้ประชาชนมากราบไหว้บูชามหาเจดีย์ ชเวดากอง ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระนิพนธ์ว่าเป็นฝีมือจำหลักลวดลายลงบนไม้ของช่างพม่าที่วิจิตรพิส ดารมาก แม้ว่าจะเคยเกิดไฟไหม้ แล้วมีการสร้างขึ้นใหม่ได้ไม่สวยเท่าเดิมทว่าก็ยังคงความงดงามอลังการปรากฏอยู่ไม่น้อย ขั้นตอนการกราบไหว้บูชามหาเจดีย์ชเวดากอง ตามแบบที่ชาวพุทธนิยมกันก็จะดำเนินไปตามนี้คือชาวพม่าถือการกราบไหว้บูชา เจดีย์ชเวดากองเป็นนิตย์ จะนำมาซึ่งบุญกุศล อันเป็นหนทางสู่การหลุดพ้นจากทุกข์โศกโรคภัยทั้งมวล บ้างมานั่งทำสมาธิเจริญ
สติภาวนานับลูกประคำ และบ้างก็มาเดิน ประทักษิณารอบองค์เจดีย์ ทว่า ชาวพม่าบางคนเชื่อว่าสุดยอดของการบูชาคารวะมหาเจดีย์ชเวดากอง คือการนั่งเจริญสมาธิเพ่งมองดวงตะวันเป็นเวลานานอันเป็นความเชื่อตามพุทธตำนานที่ว่า พระพุทธเจ้าเคยเสวยชาติเป็นนกยูง ทุก ๆ วันก่อนจะออกจากรัง ก็จะเพ่งมองดวงตะวัน พร้อมกับสวดมนต์คาถาให้แคล้วคลาดจากบ่วงนายพรานด้วยเหตุนี้ชาวพม่าจึงเชื่อสืบต่อ กันมาว่า การนั่งทำสมาธิเพ่งมองแสงพระอาทิตย์ตลอดวัน จะทำให้จิตใจ
หลุดพ้นจากบ่วงทุกข์อันหนักอึ้งได้ โดยเฉพาะในยาม ที่รัฐบาลทหารพม่าปกครองประเทศโดยจำกัดสิทธิเสรีภาพ ทางการเมือง การนั่งทำสมาธิเบื้องหน้าชเวดากอง จึงเป็นหนทาง ผ่อนคลายของจิตใจได้ทางหนึ่ง