อินูลิน เป็นเส้นใยที่สามารถละลายน้ำได้ ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมในระบบทางเดินอาหาร มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยา โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตอินูลินผงจากหัวแก่นตะวันในระดับนำร่อง ซึ่งจะศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตอินูลินผงสองชนิด คือ อินูลินผงชนิดธรรมดาและชนิดน้ำตาลต่ำ โดยกระบวนการผลิตอินูลินผงจะสกัดจากแป้งแก่นตะวัน แป้งแก่นตะวันเตรียมจากการนำหัวแก่นตะวันมาสไลด์ แช่กรดซิตริก ลวก ทำแห้งด้วยเครื่องอบแห้งแบบถาดที่อุณหภูมิ 65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 14 ชั่วโมง และบดให้เป็นผง ขั้นตอนการผลิตอินูลินผงชนิดธรรมดา คือ นำแป้งแก่นตะวันมาสกัดด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียส เหวี่ยงแยกน้ำสกัดอินูลินและกากตะกอน นำน้ำสกัดอินูลินมาทำให้เข้มข้นและทำแห้งด้วยเครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย ส่วนขั้นตอนการผลิตอินูลินผงชนิดน้ำตาลต่ำ คือจะนำน้ำสกัดอินูลินที่ได้จากการสกัดด้วยน้ำร้อนเช่นเดียวกับวิธีการผลิตอินูลินผงชนิดธรรมดามาทำปฏิกิริยาคาร์บอเนชั่น ศึกษากรองด้วยเรซิ่นสองชนิด นำน้ำสกัดที่ได้มาทำให้เข้มข้นและทำแห้งด้วยเครื่องทำแห้งแบบพ่นฝอย ผลที่ได้คืออินูลินผงชนิดน้ำตาลต่ำที่กรองด้วยเรซิ่นไฮโดรเจนและไฮดรอกไซด์ไอออน จะมีปริมาณอินูลิน-type fructans มากกว่าการกรองด้วยเรซิ่นโซเดียมไอออน และActivated carbon เนื่องจากสามารถกำจัดปริมาณเถ้าที่หลงเหลือจากกระบวนการคาร์บอเนชั่นได้เกือบหมด แต่อินูลินผงในงานวิจัยนี้ยังคงมีปริมาณอินูลินต่ำกว่าอินูลินผงทางการค้า Orafti® HSI เนื่องจากเก็บวัตถุดิบไว้เป็นเวลานาน แต่มีปริมาณกลูโคส, ฟรักโทสและซูโครส เป็นไปตามข้อกำหนด เมื่อนำการทดลองข้างต้นมาคำนวณทางด้านเศรษฐศาสตร์พบว่า กระบวนการผลิตนี้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากราคาวัตถุดิบของหัวแก่นตะวันมีราคาสูง แต่หากสามารถลดต้นทุน นำกากตะกอนที่เหลือมาทำแห้งด้วยเครื่องทำแห้งแบบลูกกลิ้ง และบรรจุขายในรูปของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคปซูลใยอาหารจากแก่นตะวันและผลิตภัณฑ์เสริมใยอาหารในเบเกอรี่ จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสสตร์และสามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 6 ปี