ประวัติความเป็นมาของรถม้าในจังหวัดลำปางจากคำบอกเล่าและบันทึกของเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง อดีตนายกสมาคมรถม้าคนที่ 2 ของจังหวัดลำปาง ซึ่งอนุสาร อ.ส.ท. ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ.2537 ได้รวบรวมไว้มีใจความว่า รถม้าเริ่มเข้ามาในจังหวัดลำปางเมื่อประมาณแปดสิบกว่าปีที่แล้ว รถม้าคันแรกคาดว่าเป็นของเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิตย์ เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้ายซึ่งได้ซื้อมาจากจังหวัดกรุงเทพฯ โดยว่าจ้างแขกมาเป็นสารถี และต่อมารถยนต์ในในกรุงเทพฯ ได้มีเพิ่มมากขึ้น รถม้าจากกรุงเทพฯจึงได้เริ่มอพยพมาในลำปางมากขึ้น และกระจัดกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช , จังหวัดนครราชสีมา , จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน ภายหลังพบว่ามีเพียงจังหวัดลำปางเท่านั้นที่นำรถม้ามาใช้อย่างแพร่หลาย ส่วนจังหวัดอื่นๆรถม้าได้หมดความนิยมไปโดยไม่ทราบสาเหตุ
ในปี พ.ศ.2492 ขุนอุทานคดี ซึ่งเป็นทนายของจังหวัดลำปาง เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมล้อเลื่อนขึ้น โดยใช้ชื่อว่า สมาคมล้อเลื่อน จังหวัดลำปาง โดยตัวท่านดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมรถม้าคนแรกของจังหวัดลำปาง โดยร่างกฎและระเบียบว่าด้วยสมาคมขึ้น
ในปี พ.ศ.2495 เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง ได้เข้ามาบริหารสมาคมแทนขุนอุทานคดีและเปลี่ยนชื่อสมาคมเป็นสมาคมรถม้า จังหวัดลำปาง โดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า THE HORSE CARRIAGE IN LAMPANG PROVINCE นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากิจการรถม้าในจังหวัดลำปาง
ได้เจริญรุ่งเรื่องขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในปี พ.ศ.2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มอบเงินให้แก่เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง และขอรับสมาคมรถม้าไว้ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาล อีกทั้งได้ตั้งกองทุนให้สมาคมรถม้าอีก 1 กองทุน
และเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ.2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกยาเธอได้เสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดลำปาง ในโอกาสนั้น เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง นายกสมาคม ได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถม้าแบบ ๒ ล้อ พร้อมด้วยม้าเทียมรถ ชื่อบัลลังก์เพชรแด่พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวิชราลงกรณ์ ในนามของเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง และสมาคมรถม้า ซึ่งชาวรถม้าถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง