ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่สภาวะที่กำลังจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจที่ชะงักมาในช่วงที่มีการต่อสู้กันทางการเมืองทั้งภาคประชาชนและนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศกำลังรอดูสภาพเศรษฐกิจจากนี้ไปว่าจะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไรและในเวลานี้สถาบันการเงินต่างๆต่างเร่งระดมเงินฝากกันมากขึ้นธนาคารพาณิชย์ต่างๆพยายามใช้กลยุทธ์ทางการตลาดออกโปรโมชั่นเงินฝากกันหลากรูปแบบและส่วนใหญ่จะเป็นการเน้นที่เงินฝากระยะยาวเช่น เงินฝากปลอดภาษี การมอบของสมนาคุณเมื่อเปิดบัญชีใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้เป็นที่คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจไทยนับจากนี้จะเดินหน้าต่อไปได้จากการที่มีรัฐบาลใหม่ที่จะมาสานต่อโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัวจึงจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินจำนวนมากดังนั้นธนาคารพาณิชย์จึงเร่งระดมเงินฝากเพื่อนำไปใช้ในการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการต่างๆ ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงได้ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลในการศึกษาเป็นข้อมูลทุติยภูมิ (secondary data) แบบอนุกรมเวลา (time series) รายไตรมาส จากปี พ.ศ. 2550 (ไตรมาสที่ 1) ถึงปีพ.ศ.2557 (ไตรมาสที่ 4) โดยรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้ข้อมูลโดยการใช้โปรแกรมEviews7 (Econometric Views) โดยสถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ 1.Unit Root Test โดยวิธีการ Augmented Dickey – Fuller : ADF 2.Ordinary Correlation 3.Variance Inflation Factors (VIF) 4.Ordinary Least Square (OLS) โดยการวิเคราะห์ทางสถิติการประมาณสมการถดถอยพหุเชิงซ้อน(Multiple Regression) ด้วยวิธีกำลังสองน้อยที่สุด (Ordinary Least Square : OLS)
ผลการวิจัย พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ (INT) และจำนวนสาขา (NBR) มีความสัมพันธ์กับปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยในทิศทางเดียวกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ0.01 ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (GOB) มีความสัมพันธ์กับปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ในทิศทางตรงข้ามกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.01
จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ (INT) และจำนวนสาขา (NBR) จะส่งผลในด้านบวกต่อปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตของปริมาณเงินฝากได้เป็นอย่างดี แต่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (GOB) กลับส่งผลด้านลบต่อปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยซึ่งเปรียบเสมือนเป็นคู่แข่งโดยเมื่ออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นหรือสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของธนาคารพาณิชย์แน่นอนว่าประชาชนย่อมแสวงหาผลประโยชน์และกำไรสูงสุด ดังนั้นประชาชนจะหันไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลมาเก็บไว้มากกว่าการฝากเงินในธนาคารพาณิชย์