เกาะสีชังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงามจำนวนมาก เช่น ภูเขา ทะเล หาดทราย แหลม เกาะเล็กเกาะน้อยโดยรอบ ชายฝั่งเว้าแหว่ง เป็นต้น
เกาะสีชังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือ เกาะสีชังมีความเกี่ยวกันกับ
พระราชวงศ์จักรีตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) โดยเป็นทั้งที่พักระหว่างทางในการเสด็จพระราชดำเนินหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันออกและเป็นที่พักฟื้น ตลอดจนใช้เป็นสถานที่บริหารราชการในบางครั้ง นอกจากมีความสำคัญดังกล่าวแล้วในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์ยังได้โปรดกรุณาให้ก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ หลายอย่าง เช่น พระจุฑาธุชราชฐาน วัดอัษฎางคนิมิต สะพานอัษฏางค์ อัษฎางค์ประภาคาร ศิลาจารึก เป็นต้น ซึ่งสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีคุณค่ายิ่งของเกาะสีชัง
เกาะสีชังมีวัฒนธรรมประเพณีและวิถีการดำเนินชีวิตเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
กล่าวคือในปัจจุบันประชาชนชาวเกาะสีชังยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีและวิถีการดำเนินชีวิตดั้งเดิมของตนเองไว้ เช่น ประเพณีกองข้าว ประเพณีอุ้มสาวลงน้ำในวันไหล ประเพณีข้าวมันส้มตำในวันลอยกระทง รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน เป็นต้น
ทะเลบริเวณหน้าเกาะสีชังเป็นท่าเทียบเรือธรรมชาติ อันเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือทั้ง
ชาวไทยและชาวต่างประเทศมามากกว่า 200 ปี ทั้งนี้ เนื่องจากสภาพทะเลระหว่างเกาะสีชังและเกาะขามใหญ่ มีลักษณะเหมาะสมแก่การทอดสมอเรือทั้งลักษณะความกว้างของพื้นผิวน้ำที่กว้างใหญ่ถึง 10 กิโลเมตร ความลึกของน้ำทะเลระหว่าง 6 – 30 เมตรและมีตัวเกาะเป็นกำบังลมอย่างดี ในด้านการท่องเที่ยวเกาะสีชังเป็นเกาะที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร เพียง 117 กิโลเมตร
และสามารถเดินทางไปกลับได้ภายใน 1 วัน อีกทั้งเกาะสีชังยังมีทรัพยากรการท่องเที่ยวทั้งประเภทธรรมชาติ ประเภทประวัติศาสตร์ โบราณสถานและศาสนสถานและประเภทวัฒนธรรมประเพณีและวิถีการดำเนินชีวิตอยู่บนเกาะแห่งเดียวกัน ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและนันทนาการรองรับประชาชนของกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงได้เป็นอย่างดี