การตอนกิ่ง (LAYERING)
การตอนเป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้กิ่งหรือต้นพืชเกิดรากขณะติดอยู่กับต้นแม่ เมื่อตัดไปปลูกจะได้ต้นพืชใหม่ที่มีลักษณะทางสายพันธุ์เหมือนต้นแม่ทุกประการ แต่มีข้อเสียคือ ระบบรากของพืชไม่ค่อยแข็งแรง เนื่องจากไม่มีระบบรากแก้ว
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการตอนกิ่ง
๑. มีดบางหรือมีดที่ใช้สำหรับขยายพันธุ์พืช
๒. ตุ้มตอน (ตุ้มตอน หมายถึง ขุยมะพร้าวอัดถุงพลาสติกขนาด ๔ x ๖ นิ้ว)
๓. เชือกหรือลวด
๔. กรรไกรตัดแต่งกิ่ง
วิธีการตอน ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
๑. การเลือกกิ่งที่จะทำการตอน
การเลือกกิ่งนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกจึงจำเป็นต้องเลือกกิ่งจากต้นพันธุ์ดี ต้องเป็นกิ่งเพสลาด (กิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่) ที่มีความสมบูรณ์ปราศจากการทำลายของโรคและแมลง ถ้าเป็นกิ่งกระโดงได้ยิ่งดี หรือกิ่งจากส่วนอื่นที่สมบูรณ์แบบ กรณีที่ต้นพันธุ์ดีมีอายุมาก กิ่งไม่สวย จำเป็นต้องตัดกิ่งเพื่อให้กิ่งชุดใหม่แตกออกมาเสียก่อน แล้วจึงทำการตอนบนดิ่งชุดใหม่นั้น
๒. การทำแผลบนกิ่งตอน มีวิธีการทำได้ ๓ แบบ คือ
๒.๑ แบบการควั่นกิ่ง เป็นการทำแผลที่นิยมและใช้กันมานานแล้ว สามารถใช้ได้กับพืชหลายชนิด เช่น มะนาว ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง ลิ้นจี่ ส้มโอ และไม้ดอกไม้ประดับ ฯลฯ วิธีนี้เหมาะสำหรับพืชที่ลอกเปลือกไม้ออกได้ง่าย โดยการใช้มีดควั่นกิ่งโดยรอบเป็นวงแหวน ๒ วง ความห่างของวงแหวนประมาณความยาวของเส้นรอบวงของกิ่งที่ทำการตอน จากนั้นกรีดรอยแผลจากด้านบนถึงด้านล่าง แล้วลอกเอาเปลือกไม้ออก ใช้สันมีขูดส่วนที่เป็นเมือกลื่นที่ติดบนเนื้อไม้บริเวณรอยควั่นออกให้หมด โดยขูดจากด้านบนลงมาด้านล่างเบา ๆ เพราะด้านบนเป็นส่วนที่ให้กำเนิดราก ถ้าหากซ้ำการออกรากอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร
๒.๒ แบบการปาดกิ่ง เป็นวิธีการตอนอีกแบบหนึ่ง เหมาะสำหรับพืชที่ออกรากง่าย และพืชบางชนิดที่ลอกเปลือก นอกของกิ่งออกยาว โดยการเฉือนใต้ท้องกิ่งบริเวณที่จะทำการตอนเข้าเนื้อไม้เอียงเป็นรูปปากฉลาม เข้าไปในเนื้อไม้ประมาณ ๑/๓ ของเส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่ง ความยาวแผลประมาณ ๑-๒ นิ้ว จากนั้นหาเศษไม้หรือลวดตะกั่วหรือลวดฟิวไฟฟ้าสอดแล้วมัดเพื่อไม่ให้รอยแผลที่เปิดไว้ติดกัน ซึ่งพืชที่ใช้วิธีนี้ ได้แก่ สาเก ชวนชม
๒.๓ แบบการกรีดกิ่ง โดยใช้ใบมีดกรีดเป็นรอยแผลตามความยาวของกิ่ง ยาวประมาณ ๑-๑.๕ นิ้ว จนลึกถึงเนื้อไม้จำนวน ๓-๕ รอยรอบกิ่ง เหมาะสำหรับพืชที่ออกรากง่ายและกิ่งที่จะทำการตอนยังอ่อนอยู่ เช่น หมากผู้หมากเมีย โกศล ยี่โถ
๓. การหุ้มกิ่งตอน
เป็นการชักนำให้รอยแผลที่ควั่นไว้ออกรากโดยใช้ตุ้มตอนซึ่งได้จากการนำขุยมะพร้าวที่ดีเอาเส้นใยออกแล้วไปแช่น้ำบีบให้หมาด ๆ และอัดลงในถุงพลาสติกขนาดเล็ก ผูกปากถุงให้แน่น ผ่าตุ้มตอนตามยาวแล้วหุ้มไปบนรอยแผล มัดด้วยเชือกบริเวณหัวท้ายเหนือและใต้รอยแผลที่ควั่นหรือเฉือนเอาไว้ ต้องมัดให้แน่นโดยไม่ให้ตุ้มตอนหมุนได้ เพราะถ้ามักไม่แน่นอาจทำให้การออกรากไม่ดีเท่าที่ควร
๔. การปฏิบัติดูแลรักษากิ่งตอน
หลังจากทำการตอนกิ่งไปแล้วควรหมั่นดูแลตุ้มตอนให้มีความชื้นอยู่เสมอ โดยสังเกตดูความชื้นของตุ้มตอน ถ้ายังมีฝ้าไอน้ำจับอยู่ที่ผิวของพลาสติกภายในตุ้มตอนแสดงว่าความชื้นยังมีอยู่ แต่ถ้าหากไม่มีฝ้าไอน้ำจับ จำเป็นต้องให้น้ำตุ้มตอนเพิ่มเติมจนกว่ากิ่งตอนจะออกราก หรือถ้าหากพบแมลงทำลายควรฉีดพ่นด้วยสารเคมี
๕. การตัดกิ่งตอน
เมื่อตอนกิ่งไปได้ประมาณ ๓๐-๔๕ วัน กิ่งตอนก็จะเริ่มออกรากและแทงผ่านวัสดุที่หุ้มภายในออกมาจนมองเห็นด้วยตาเปล่า ระยะนี้ยังตัดกิ่งตอนไม่ได้ต้องรอจนรากที่งอกออกมาเป็นสีเหลืองแก่หรือสีน้ำตาล จำนวนรากมีมากพอและปลายรากมีสีขาว จึงตัดกิ่งตอนไปชำได้
๖. การชำกิ่งตอน
กิ่งตอนที่ตัดมาแล้วให้ตัดแต่งใบและกิ่งออกทิ้งบ้างเพื่อลดการคายน้ำของใบให้มีปริมาณน้อยลง ถ้าหากมีกิ่งแขนงและใบมากเกินไป เมื่อนำไปชำอาจจะทำให้ต้นพืชเหี่ยวเฉาและตายได้ จากนั้นให้ตัดเชือกและแกะถุงพลาสติกออก นำไปชำลงในถุงพลาสติกหรือกระถางดินเผาที่บรรจุดินผสมแล้ว พร้อมปักหลักยึดไว้ให้แน่น นำเข้าพักไว้ในโรงเรียนที่ร่มและชื้น กรณีพืชที่เหี่ยวเฉาง่ายควรก็บไว้ในโรงเรือนควบคุมความชื้นหรือกระบะพ่นหมอก พักไว้ในโรงเรือนประมาณ ๒๐-๓๐ วัน ก็สามารถนำไปปลูกได้