การที่ฝรั่งเศสได้ยึดครองตำแหน่งผู้นำความหรูหราเป็นเวลาช้านาน ก็เป็นเพราะไม่มีที่ใดที่ผู้ประกอบอาชีพด้านงานสร้างสรรค์และความหรูหราได้รับการพัฒนาก้าวไกลในหลากหลายสาขามากเท่าที่นี่ จากการสำรวจของ Comité Colbert ชาวต่างชาติร้อยละ 60 ยังคงเห็นว่าเรื่องของความหรูหรานั้นต้องยกให้ฝรั่งเศส แม้ประเทศนี้จะเริ่มสูญเสียพื้นที่ทางการตลาดมากขึ้นทุกปีก็ตาม ปัจจุบัน บริษัทฝรั่งเศสยึดครองส่วนแบ่งทางการตลาดด้านสินค้าแบรนด์เนมของโลกรวมกันเกือบร้อยละ 30 ขนาดที่เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ยึดครองได้มากถึงร้อยละ 50 สินค้าที่มีการซื้อขายลดลงอย่างมากได้แก่ เสื้อผ้าตัดเย็บ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และไวน์ กระนั้นฝรั่งเศสก็ยังยึดครองตลาดด้านเครื่องหนัง เครื่องประดับแฟชั่น น้ำหอม คริสตัล และแชมเปญชั้นเยี่ยมอยู่ มีสินค้าจาก 412 ยี่ห้อด้วยกันที่เป็นกำลังสำคัญในอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยคิดเป็นมูลค่ารวมทั่วประเทศมากถึง 16 พันล้านยูโร และก่อให้เกิดการจ้างแรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อมถึง 200,000 ตำแหน่ง
เมื่อสองสามปีก่อน สินค้าหรูหราเคยเป็นผลงานของศิลปิน ช่างฝีมือ จนถึงทุกวันนี้ คนกลุ่มนี้ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นนักอุตสาหกรรมด้วย ดังที่ฟรองซัวส์ ซิโรต์กล่าวไว้ใน LE MONDE เมื่อปี 1987 ว่า ช่วงเวลาที่ช่างทำเครื่องประดับและช่างเสื้อจะสร้างชื่อและมีรายรับเป็นกอบเป็นกำจากความหลงใหลในเพชรนิลจินดา และความคลั่งไคล้ในเสื้อผ้าอาภรณ์ของกษัตริย์สองสามพระองค์นั้นหมดลงแล้ว จากนี้ไป สินค้าหรูหราจะต้องยอมรับกฎทางการตลาด ซึ่งแสวงหาสินค้าที่ตอบสนองต่อการบริโภค