คนไทยรักในหลวง เป็นประโยคสั้นๆ ที่ไม่ต้องการคำอธิบาย และทุกครั้งที่มีคนเล่าเรื่องในหลวง ให้เราฟัง ไม่ว่าจะโดยคำพูดหรือตัวอักษร เราก็จะมีความสุขที่ได้รับรู้และมีส่วนร่วม เป็นความสุขที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ทั้งผู้เล่า ผู้เขียน และผู้ฟัง
ในหลวงของเราอาจจะมิได้เป็นเทพบนท้องฟ้า แต่ เราก็รักและเชื่อมั่นในหลวงของเราอย่างยิ่ง เพราะว่าในหลวงของเราเป็นมนุษย์ที่ทำความดีไว้มากมาย มีวินัยที่ดีเยี่ยม มีความขยันที่เป็นตัวอย่าง มีความรักและความรับผิดชอบจนเป็นที่ประจักษ์จนไม่ต้องพิสูจน์ ดังนั้นการจะเล่าเรื่องของในหลวงให้ฟังกัน จึงเป็นเรื่องที่เราไม่เคยเบื่อ และบทความสั้นต่อจากนี้ก็เป็นอีกบทความหนึ่งที่ผู้เขียนเขียนด้วยความสุข เพื่อร่วมความสุขกับผู้อ่านครับ
ในหลวงของเรานั้น มีพระปรมาภิไธยอย่างเป็นทางราชการว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร
ในหลวงทรงมีความผูกพันอย่างยิ่งกับสมเด็จย่า ซึ่งพระองค์ทรงเรียกด้วยคำธรรมดาว่า แม่ และ สมเด็จย่าทรงเป็นตัวอย่างให้พระองค์เสมอ ทรงสอนให้ในหลวงของเราเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ มีวินัย มีความรักผู้อื่น มีความอดทน มีความประหยัด และมีความคิดสร้างสรรค์ สมเด็จย่าทรงสอนให้ในหลวงรู้จักการใช้แผนที่เพื่อศึกษาภูมิประเทศของเมือง ไทย โดยโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนเพาะช่างทำแผนที่ประเทศไทยเป็นรูปตัวต่อ เลื่อยเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเพื่อให้ทรงเล่นเป็นจิ๊กซอว์ ดังนั้นทุกคนที่ตามเสด็จในหลวงไปตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศจะทราบว่า ในหลวงจะทรงมีสิ่งของประจำพระองค์อยู่ ๓ สิ่งเสมอ คือ กล้องถ่ายรูป ดินสอที่มียางลบ และแผนที่ซึ่งทรงทำขึ้นเอง (ตัดต่อเอง ปิดกาวเอง) จนของสามสิ่งง่ายๆ นี้ เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้ความลำบากยากไร้ของชาวไทยในท้องถิ่นชนบททั่วประเทศมีความสุขและความเท่าเทียมมากขึ้น
ในหลวงทรงเป็นตัวอย่างของ ความรับผิดชอบ ในเอกสารสำคัญใดๆ ทรงโปรดให้กรอกในช่องอาชีพของพระองค์ท่านว่า ทำราชการ และเราก็ทราบอยู่ด้วยหัวใจเสมอว่าทุกวินาทีของพระองค์ท่านก็คือการ ทำราชการ
ครั้งหนึ่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามว่า เคยทรงเหนื่อยทรงท้อบ้างหรือไม่ ในหลวงทรงตอบว่า
ความ จริงมันก็น่าท้อถอยอยู่หรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเราคือบ้านเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ
จะมีผู้ที่รักในหลวงสักกี่คนที่จะทราบว่า แม้กระทั่งวันที่ในหลวงต้องทรงเข้าห้องผ่าตัดกระดูกสันหลัง (๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๙) ก่อน เข้าที่ผ่าตัด ยังรับสั่งให้ข้าราชบริพารไปติดตั้งคอมพิวเตอร์เดินสายออนไลน์เอาไว้ เพราะกำลังมีพายุใหญ่เข้าเขตประเทศไทย พระองค์จะได้ทรงเฝ้าตรวจสอบ (Monitor)เผื่อหากเกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นอุทกภัย จะได้ทรงช่วยเหลือทันเวลา
ในหลวงทรงเป็นตัวอย่างของความซื่อสัตย์ ซึ่ง มีเรื่องบันทึกอยู่มากมาย เช่น ครั้งหนึ่งในการแข่งขันเรือใบ (ในหลวงทรงโปรดกีฬาหลายชนิด เช่น แบดมินตัน และเรือใบ เป็นต้น) ทรงเรือใบออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นกลับฝั่ง และตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ ว่า เสด็จกลับฝั่งเพราะเรือแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาแข่งเรือใบถือว่าผิดกติกา(ฟาวส์) ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น หากไม่ทรงบอกใคร ก็ไม่มีใครทราบ การแข่งก็ดำเนินต่อไปได้ และท่านอาจจะเป็นผู้ชนะก็ได้ แต่ก็ทรงยึดตามกติกาทุกอย่าง ทำตามกติกาทุกประการ เอาความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้ง เพื่อให้การแข่งนั้นยุติธรรม
ในหลวงทรงเป็นตัวอย่างของ ความพอดี และประหยัด ห้องทรงงานของพระองค์ในพระตำหนักจิตรลดาฯ จะอยู่ใกล้ห้องบรรทม เป็นห้องเล็กๆ ขนาด 3 x 4 เมตรเท่านั้น ภายในห้องมีวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องบันทึกเสียง เครื่องพยากรณ์ แผนที่ ฯลฯ สำหรับการทรงงานเพื่อประชาชนของพระองค์ตลอดเวลา ยาม เมื่อทรงออกตรวจงานภายนอก รับสั่งกับข้าราชบริพารเสมอว่า การนั่งรถคนละคันนั้นเป็นการสิ้นเปลือง จึงทรงให้นั่งรวมกัน และไม่โปรดให้มีขบวนรถยาวเหยียด ซึ่งเรียกว่า นั่งรถหารสอง
คนไทยเกือบทุกคนจะทราบเรื่อง หลอดยาสีฟันของในหลวง ที่ทรงใช้จนแบนราบเรียบคล้ายแผ่นกระดาษ โดยเฉพาะบริเวณคอหลอดยังปรากฏรอยบุ๋มลึกลงไปถึงเกลียวคอหลอด เพราะทรงใช้ด้ามแปรงสีฟันรีดและกดเพื่อไม่ให้ยาสีฟันเหลือทิ้งเลย
แต่ยังมีข้อมูลอีกหลายอย่างที่เป็นตัวอย่างให้เราเห็นถึงความพอดีและความประหยัด เช่น ในหลวงไม่โปรดสวมเครื่องประดับ เช่น แหวน สร้อยคอ ของมีค่าต่างๆ ยกเว้นแต่นาฬิกา หรือ มีบันทึกว่า ในปีหนึ่งๆ ในหลวงทรงเบิกดินสอเพียง ๑๒ แท่ง ใช้เดือนละแท่ง และทรงใช้จนกระทั่งดินสอนั้นกุดจนใช้ไม่ได้แล้วเสมอ
ในหลวงทรงเป็นตัวอย่างของความสร้างสรรค์ พระองค์ ทรงพิสูจน์และเป็นตัวอย่างให้พวกเราเห็นว่า การมีวินัย ความรับผิดชอบ ความพอดี ความซื่อสัตย์ และการประหยัดอย่างยิ่งนั้น ก็มิได้หมายความว่าความคิดในการสร้างสรรค์ของมนุษย์จะลดลงไป พระองค์ทรงเป็นตัวอย่างและพิสูจน์เรื่องนี้จนเป็นที่ประจักษ์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้สิทธิบัตรผลงานประดิษฐ์ เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือที่เรารู้จักกันในนามว่า กังหันชัยพัฒนา นั่นเอง
ในหลวง ทรงพระราชนิพนธ์เพลงได้ทุกแห่ง หลายครั้งไม่จำเป็นต้องมีเครื่องดนตรีช่วย เช่นครั้งหนึ่งเมื่อเกิดแรงบันดาลพระทัย ทรงฉวยซองจดหมายแล้วทรงตีเส้น ๕ เส้น แล้วทรงเขียนโน้ตทำนองเพลงขึ้นเดี๋ยวนั้น กลายเป็นเพลง เราสู้ เป็นต้น และเราเคยทราบกันหรือไม่ว่า ในหลวงเป็นผู้ประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรภาษาไทยสำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Thai Font) ขึ้นหลายรูปแบบ เช่น ฟอนต์จิตรลดา ฟอนต์ภูพิงค์ เป็นต้น
เรื่องของในหลวงของเรา เล่าอย่างไรก็ไม่หมด ผู้เล่าและผู้อ่านมีความสุขเสมอ ประชาชนในประเทศอื่นฟังแล้วไม่อยากเชื่อ และไม่มีวันที่จะเข้าใจถึงความรักและความผูกพันระหว่างพสกนิกรและในหลวงของเราได้ และในปี ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราจะมีพระชนมายุ ๘๑ พรรษาแล้ว พระองค์ยังคงทรงงานหนักเพื่อพวกเราเหมือนเดิม
.. เหลือ เพียงพวกเราแล้ว ที่จะตอบแทนหรือเดินตามเบื้องพระยุคลบาทอย่างไรให้เหมาะสมและสมควร ต่อความรักและความห่วงใยที่ในหลวงมีต่อพวกเรา
บทความนี้ขอจบด้วยเรื่องจริงเ