อาหารที่ใช้กับสัตว์น้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ สิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกใช้อาหารสำหรับสัตว์น้ำ ได้แก่ คุณค่าทางโภชนาการ ทั้งนี้อาหารที่ดีควรมีสมบัติทางกายภาพที่เหมาะสม เช่น กลิ่นที่ดึงดูด ความคงสภาพในน้ำ ปริมาณฝุ่น การลอยตัว เป็นต้น วัตถุดิบที่จะนำมาใช้จึงสำคัญเนื่องจาก วัตถุดิบบางชนิดสามารถเป็นสารเหนียวทำให้เม็ดอาหารยึดเกาะกันมากขึ้นและลดการสูญเสียได้ ดังนั้นผู้ทำการวิจัยจังได้เสนอหัวข้อปัญหาพิเศษเรื่อง “ผลของสารเหนียวต่อลักษณะทางกายภาพของเม็ดอาหารกุ้งและปลา”เพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกใช้สารเหนียวที่สามารถหาได้ง่ายตามท้องถิ่น มีราคาถูก และมีประสิทธิภาพเท่ากับสารเหนียวที่สังเคราะห์ขึ้น โดยการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการเปรียบเทียบอาหารทั้งหมด 11 สูตรซึ่ง 6 สูตรเป็นอาหารสำหรับกุ้ง อาหารสูตรที่ 1 ใช้ Alpha starch เป็นสารเหนียว อาหารสูตรที่ 2 ใช้มันเส้นบดละเอียดเป็นสารเหนียว อาหารสูตรที่ 3 ใช้ปลายข้าวเป็นสารเหนียว อาหารสูตรที่ 4 ใช้สาหร่ายผมนางเป็นสารเหนียว อาหารสูตรที่ 5 ใช้กล้วยน้ำว้าเป็นสารเหนียว และอาหารสูตรที่ 6 ใช้ Wheat-gluten เป็นสารเหนียว อีก 5 สูตรเป็นอาหารปลา ได้แก่ อาหารสูตรที่ 1 ใช้ Alpha starch เป็นสารเหนียว อาหารสูตรที่ 2 ใช้มันเส้นบดละเอียดเป็นสารเหนียว อาหารสูตรที่ 3 ใช้ปลายข้าวเป็นสารเหนียว อาหารสูตรที่ 4 ใช้กล้วยน้ำว้าเป็นสารเหนียว และอาหารสูตรที่ 5 ใช้ Wheat-gluten เป็นสารเหนียว การศึกษาทำโดยการคำนวณสูตรอาหารโดยอ้างอิงค่าโภชนาการของวัตถุดิบจากหลายๆแหล่งและทำการผลิตเม็ดอาหารขึ้น นำไปทดสอบความคงสภาพในน้ำ ปริมาณฝุ่น และการลอยตัว ผลการศึกษาพบว่า อาหารทั้ง 11 สูตรมีความคงสภาพในน้ำและการลอยตัวไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 (P>0.05) อาหารกุ้งสูตรที่ 3 และอาหารปลาสูตรที่ 5 มีปริมาณฝุ่นน้อยที่สุด