เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทยอยนำงาช้างของกลาง เข้าเครื่องบด ย่อยหิน ภายในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ก่อนจะบรรจุใส่ถังถึง 46 ถัง ไปเผาทำลายที่เตาเผาขยะอุตสาหกรรมย่านบางปู งาช้างที่ถูกทำลาย มีน้ำหนักรวมกว่า 2 ตัน และเป็นงาช้างแอฟริกาที่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการค้างาช้างผิดกฎหมายในประเทศไทย อาศัยอำนาจในพระราชบัญญัติงาช้างที่เพิ่งออกเป็นกฎหมายฉบับแรก ที่บังคับใช้ในกรณีนี้ พิธีเผาทำลายงาช้างครั้งนี้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นการส่งสัญญาณว่า ไทยมีมาตรการจัดการงาช้างผิดกฏหมาย ภายหลังไซเตสจัดให้ไทยเป็น 1 ใน 8 ประเทศ ที่ไม่มีมาตรการดูแลการค้างาช้างภายในประเทศอย่างจริงจัง
รวมถึงเป็นประเทศปลายทางที่รับงาช้างผิดกฎหมายมากเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ซึ่งเรื่องนี้อาจนำไปสู่การเตรียมระงับซื้อขายสินค้าในบัญชีไซเตสกับไทย เช่น หนังจระเข้ หนังงู ผลิตภัณฑ์จากนกแก้ว และกล้วยไม้ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 3 หมื่น 7 พันล้านบาท และส่งผลถึงการจ้างงานเกือบ 1 แสน 4 หมื่นตำแหน่ง