เศรษฐกิจและสังคม
เศรษฐกิจ
1. เศรษฐกิจเลบานอนเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็ก โดยเน้นหนักด้านธุรกิจบริการ แต่เกษตรกรรมยัง คงเป็นแหล่งการจ้างงานหลักของประเทศ แต่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ อุตสาหกรรมป่าไม้ โดยเฉพาะไม้ซีดาร์ ซึ่งเคยเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้ถูกตัดทำลายไปแล้วจำนวนมาก โดยปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ ปูนซีเมนต์ โดยภาคอุตสาหกรรมของเลบานอนมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เพราะอุปสงค์ภายในประเทศมีน้อย แต่ต้องการสินค้านำเข้ามากกว่า สินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศได้แก่ อาหารแปรรูปและอัญมณี โดยธุรกิจอัญมณีมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีในช่วงที่ผ่านมา ส่วนธุรกิจบริการนั้น ในปี 2550มีสัดส่วนสูงถึง 3 ใน 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยเมืองหลวงเบรุตเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญด้านการธนาคาร นอกจากนั้น เลบานอนยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของนักท่องเที่ยวระดับบนจากรัฐอาหรับริมอ่าว แต่สงครามกลางเมืองและปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม
2. รัฐบาลเลบานอนหลายยุคหลายสมัยต้องประสบปัญหาการใช้จ่ายภาครัฐที่ขาดดุล เนื่องจาก สงครามกลางเมืองที่ยาวนานกว่า 25 ปี และรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพและขาดความสามารถในการควบคุมการใช้จ่ายก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะที่สะสมอย่างมาก อย่างไรก็ดี ภายหลังสงครามสงบลงเมื่อปี 2533 รัฐบาลเลบานอนได้พยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยว การเกษตร และการเงินการธนาคาร (การลงทุนจากประเทศรัฐริมอ่าว) เศรษฐกิจเลบานอนก็เติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2549 หลักทรัพย์ธนาคารมีมูลค่าสูงถึง 75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มูลค่ารวมตลาดทุน (Market capitalization) สูงถึง 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ประสบภาวะชะงักงันเนื่องจากสงครามกับอิสราเอลเมื่อปี 2549 และปัญหาวิกฤตการเมืองปี 2550-2551
3. เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2550 รัฐบาลของนายฟูอาด ซันยูรา (Fuad Siniora) ได้อนุมัติแผนปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax - VAT) ปฏิรูประบบภาษีและแปรรูประบบ มือถือ แต่ได้รับการประท้วงจาก General Labour Confederation (GLC) สมาพันธ์แรงงาน ซึ่งได้รับการ สนับสนุนของพรรคฝ่ายค้าน อาทิ พรรค Hizbullah พรรค Amal Movement พรรค Free Patriotic Movement และพรรค Syrian Social National Party โดยอ้างว่าแผนปฏิรูปดังกล่าว โดยเฉพาะการแปรรูประบบโทรคมนาคมเป็นองค์กรเอกชน จะส่งผลประทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยได้มีการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศช่วงเดือนมกราคม 2550 เพื่อกดดันให้รัฐบาลของนายซันยูราลาออกและจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นผลให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวนมาก
4. ภายหลังสงครามระหว่างกลุ่ม Hizbullah และอิสราเอลเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2549 รัฐบาลเลบานอนได้เร่งรุดการฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคภายในประเทศ โดยความร่วมมือและช่วยเหลือของประชาคมโลก โดยฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Paris III (Donors Conference) โดยมีผู้แทนจาก 36 ประเทศ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมกว่า 14 องค์กร เพื่อระดมความช่วยเหลือในการบูรณะฟื้นฟูเลบานอน โดยมียอดเงินบริจาคในรูปแบบต่างๆ สูงถึงกว่า 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีผู้บริจาครายใหญ่ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (European Bank for Investment) (1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามด้วย ซาอุดีฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้บริจาคสูงสุด (1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)