โครงร่างการเขียนรายงานวิชาการ
1. ความหมายของการเขียนรายงานทางวิชาการ
ในการเขียนรายงานนั้น มีความหมายของคำบางคำ ใกล้เคียงกัน ที่ควรทราบ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง และนำไปใช้ในการวางแผนการเขียน ให้สอดคล้องกับลักษณะของงาน ดังนี้
• รายงาน (Report) หมายถึง ผลงานของการศึกษาค้นคว้า หรือการปฏิบัติงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างละเอียด แล้วนำมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ อย่างมีระเบียบ แบบแผน ที่กำหนดไว้ เพื่อให้ผู้สั่งงาน หรือผู้รับรายงาน และผู้สนใจทั่วไป พิจารณา
• บทนิพนธ์ หมายถึง ผลงานการเรียบเรียง อันเนื่องมาจากการศึกษาค้นคว้า ของผู้ศึกษา จำแนกเป็น รายงาน ภาคนิพนธ์ และปริญญานิพนธ์
• ภาคนิพนธ์ (Term Paper) หมายถึง ผลงานที่รวบรวมและเรียบเรียงจากการศึกษาค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ผู้สอนมอบหมายให้ทำ ใช้เป็นส่วนประกอบของการศึกษาวิชาใดวิชาหนึ่ง มีลักษณะเป็นการศึกษาเอกสาร ไม่ใช่วิจัยสนาม (Field Research) ซึ่งมักมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในสถานการณ์จริง
• วิทยานิพนธ์ (Thesis Dissertations) เป็นรายงาน ที่เรียบเรียงจากการศึกษาค้นคว้าวิจัย ข้อเท็จจริง อย่างละเอียดลึกซึ้งรอบคอบ ตามลำดับขั้นของการวิจัย เป็นรายงานที่จัดทำเพื่อการศึกษา ระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก มีปริมาณและคุณภาพสูงกว่า ภาคนิพนธ์
รายงานโดยทั่วไป มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ การแสดงความคิด ความรู้ และความรู้สึก มีรายละเอียดการเขียนแตกต่างกันบ้าง อาจแบ่งรายงานเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท คือรายงานทั่วไป กับ รายงานทางวิชาการ
• รายงานทั่วไป ได้แก่รายงานข้อเท็จจริง หรือ ข้อคิดเห็น ของบุคคลหรือหน่วยงานหรือสถานการณ์ เหตุการณ์ ซึ่งได้ดำเนินไปแล้ว หรือกำลังดำเนินอยู่ หรือจะดำเนินต่อไป ได้แก่ รายงานแสดงผลงาน หรือรายงานเสนอผลงาน ซึ่งผู้รับผิดชอบรายงานผลการปฏิบัติงาน ต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้เกี่ยวข้อง ว่ามีผลงานเป็นอย่างไร หรือมีแนวโน้มไปทางใด รายงานเหตุการณ์ บอกให้ทราบเรื่องราวต่าง ๆ เป็นระยะ ถ้ามีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที
• รายงานทางวิชาการ ได้แก่ รายงานที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า ของนักวิชาการหรือสถาบันทางวิชาการ มักได้จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย โดยมีระเบียบวิธีการศึกษาค้นคว้าที่เป็นระบบ และมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นข้อเท็จจริง ปราศจากการต่อเติมเสริมแต่งใช้สำนวนภาษาที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่ใช้พรรณนาโวหารไพเราะ เน้นความรู้ ความถูกต้อง มีระบบการอ้างอิง ที่มาของข้อมูล เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้า อ้างอิงได้ใช้ชื่อต่าง ๆ เช่น รายงานการค้นคว้าทดลอง รายงานการวิจัย รวมถึง รายงานภาคนิพนธ์ และวิทยานิพนธ์ ก็เป็นรายงานทางวิชาการแบบหนึ่ง
2. แนวคิดพื้นฐานในการเขียนรายงาน
การเขียนรายงาน โดยเฉพาะรายงานทางวิชาการที่มีประโยชน์ จำเป็นจะต้องอิงหลักวิชาการ เป็นการนำเสนอความคิด ความรู้ ที่ถูกต้อง เกิดประโยชน์ในการอ่าน ตอบสนองความต้องการของผู้อ่านได้ เพราะความมุ่งหมายที่แท้จริงของการเขียน ก็คือ เขียนเพื่อให้ผู้อื่นอ่านการที่จะเขียนให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์จากการอ่านตามจุดมุ่งหมาย ผู้เขียนควรจะได้เขียนอย่างประณีตในการใช้รูปแบบถ้อยคำภาษา จัดลำดับการนำเสนอเนื้อหา เป็นขั้นตอน ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน นักเขียนมืออาชีพ จะพิจารณาตอบคำถาม 3 ข้อต่อไปนี้ ก่อนลงมือเขียนผลงาน
1. คุณลักษณะของผู้อ่านเป็นอย่างไร
2. ผู้เขียนมีจุดประสงค์ในการเขียนอย่างไร
3. ควรจะเรียบเรียงนำเสนอเนื้อหาอย่างไร
หลักการ แนวคิดพื้นฐานสำคัญของนักเขียนมืออาชีพ ได้แก่
• 1. คำนึงถึงผู้อ่าน ถ้าได้ทราบล่วงหน้า ว่าผู้อ่านรายงานคือใคร พื้นฐานความรู้ความคิดเป็นอย่างไร จะทำให้ทราบความรู้ ความสามารถ และความคาดหวัง ที่ผู้อ่านต้องการจากรายงานได้ ทำให้การเขียนรายงานทำได้ตรงความต้องการของผู้อ่าน รายงานจะมีประโยชน์มากกว่าเขียนครอบคลุมผู้อ่านหลายระดับ ซึ่งตอบสนองได้ยากกว่าเขียนโดยคำนึงถึงผู้อ่าน ยึดความต้องการของผู้อ่านเป็นสำคัญ ผู้อ่านต้องการทราบอะไรเขียนให้ตรง ไม่ควรเขียน หรือรายงานทุกอย่างที่ผู้เขียนทราบ แต่รายงานเฉพาะที่ผู้รับรายงานต้องการหรือควรทราบเท่านั้น ประหยัดเวลาของผู้อ่าน เพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงสิ่งที่ต้องการโดยเร็ว เขียนเนื้อหาสั้น ๆ ให้ได้ความชัดเจนเขียน สาระสำคัญ บทสรุปและข้อเสนอแนะ ให้มีจุดสังเกต เห็นได้ง่าย เช่น ตัวใหญ่ ตัวหนา แยกห่างจากข้อความอื่น หรือมีเครื่องหมายพิเศษกำกับเขียนให้สอดคล้องกับ พฤติกรรมการอ่านของผู้อ่าน (พอกซัน. 2537 : 26) มีการวิจัยพบว่า แนวคิด ข้อความ ที่กล่าวถึงก่อน จะทำให้ผู้อ่านจำได้มากกว่า แนวคิดข้อความที่กล่าวภายหลัง เอกสารยิ่งยาว ความน่าอ่านก็ยิ่งลดลง ผู้อ่านสนใจที่จะอ่าน ปัญหาและข้อสรุป ตลอดจนคำแนะนำต่าง ๆ มากกว่าจะอ่าน คำบรรยาย เรื่อง วิธีการ เนื้อหาทั่วไปหรือข้อมูล รายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ และผู้อ่านรายงานมักจะคิดว่าตนเองถูกเสมอ
• 2. กำหนดจุดประสงค์ในการเขียน ถ้าผู้เขียนมีจุดประสงค์ของการเขียนชัดเจนผู้เขียนจะได้แนวทางในการเขียน และผู้อ่านจะได้รับรู้แนวทางชัดเจนตามไปด้วย ไม่ควรเขียนเพราะจำเป็นต้องเขียน ก่อนเขียน ควรจะตอบคำถามให้ได้ว่า ต้องการให้รายงานนี้ มีผลต่อผู้อ่านและต่อผู้เขียนเองอย่างไรบ้าง จุดประสงค์ของการเขียนทั่วไป 4 ข้อ มีดังนี้
1. เพื่อบอกเล่าข้อเท็จจริง ให้ความรู้ ให้ข้อมูล
2. เพื่อแนะนำ ชักจูงให้เชื่อถือ ปฏิบัติตาม
3. เพื่อแสดงตัวของผู้เขียน เพราะการเขียนจะบ่งบอกคุณลักษณะของผู้เขียน
4. เพื่อสนับสนุนหลักการ ให้ความบันเทิง อารมณ์ขัน
การเขียนที่มีจุดประสงค์แตกต่างกัน ต้องเลือกเนื้อหา วิธีเขียน รูปแบบการเขียน และเลือกใช้ภาษาที่ต่างกัน จึงจะเกิดผลตามความมุ่งหมาย
จุดประสงค์ของการเขียนรายงาน ควรจะมีหลายข้อ เรียงตามลำดับความสำคัญ คือ ควรมุ่งแสดงข้อเท็จจริง ให้ข้อมูล แนวปฏิบัติ ความคิด ความรู้
• 3. กำหนดรูปแบบการเรียบเรียงนำเสนอเนื้อหา การเสนอเนื้อหา หรือแนวในการเขียน หมายถึง วิธีเรียบเรียงข้อความให้สอดคล้องกับเนื้อหา จุดมุ่งหมายในการเขียน จนผู้อ่านสามารถรับ และเข้าใจได้ดีถึงสาระ ที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อสาร แนวการเขียนมีหลายแบบตามประเภทของงานเขียน ผู้เขียนจะต้องกำหนดแนวการเขียนไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้